เมื่อโลกสะดุดด้วยไวรัส

เมื่อโลกสะดุดด้วยไวรัส

Covid-19 กำลังสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคม และเศรษฐกิจในแทบทุกอุตสาหกรรม ทุกประเทศทั่วโลก

เราเห็นห้างร้านภัตตาคารร้าง คอนเสิร์ต/ สงกรานต์/ งานแข่งขันทั้งหลายถูกขยับเลื่อนออกไป ผู้เดินทางไปและกลับระหว่างประเทศต้องกักตัวเองไม่น้อยกว่า 14 วัน ฯลฯ และเชื่อได้ว่าผลกระทบดังกล่าว อาจทำให้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1-2%  องค์กรธุรกิจใหญ่ๆ ก็เริ่มประเมินกระทบที่จะมีต่อยอดขายและผลกำไรในปีนี้แล้ว

การที่โลกสะดุด หรือถูก disrupted ด้วยไวรัสนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่ผูกติดกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลายคนเริ่มสนใจทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าอาจมีบางประเทศอยู่เบื้องหลังการ “ปล่อย” ไวรัสนี้ แต่ก็มีอีกทฤษฎีที่ว่า ไวรัสนี้ “หลุด” ออกมาจากห้องแล็บต่างหาก แต่ไม่ว่าจะเป็น “ไวรัสธรรมชาติ” หรือ “ไวรัสเลี้ยง” ก็ทำให้ผู้บริหารประเทศต้องประเมินอย่างจริงจังถึงผลกระทบจาก “สงครามเชื้อโรค” ว่าอาจมีอานุภาพทำลายล้างที่ร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามการค้า สงครามโลก หรือสงครามนิวเคลียร์ ที่สำคัญคือเราอาจไม่ทันเตรียมตัวตั้งรับกับสงครามที่ไม่ต้องประกาศนี้ด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตามการสะดุดด้วย Covid-19 ไม่ควรสิ้นสุดแต่เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งจัดการให้ผ่านพ้นไปเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การสะดุดครั้งนี้ควรเป็นสัญญาณเตือนให้เราหันมาทบทวนระบบการศึกษา และการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งหากเราต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นเช่นที่กล่าวมา ก็แปลว่าเราต้องปรับเปลี่ยนทั้งนโยบาย กฎเกณฑ์ วิธีการ ระบบแรงจูงใจ ไปจนถึงการประเมินผลงาน และรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทน

วิถีการศึกษาแบบ “เข้าชั้นเรียน” และการทำงานแบบ “เข้าออฟฟิศ” ที่เราเห็นว่าเป็น วิถีปกติโดยเห็นว่า “เรียนออนไลน์” และ “ทำงานจากบ้าน” ก็ยังคงเป็น “ข้อยกเว้น ที่ทำได้เพียงในบางสถานการณ์หรือบางโอกาส ก็ถึงเวลาที่ต้องถูกทบทวนให้กลายเป็นทางเลือกที่ต้องถูกบูรณาการไว้ใน “รูปแบบปกติ”แล้วหรือไม่ เพราะการสะดุดด้วยไวรัสครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย รวมทั้งอาจจะมีการสะดุดด้วยเหตุอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ซึ่งหมายความว่า ระบบการศึกษาและการทำงานแบบปัจจุบันของเราน่าจะต้องถูกปรับให้มีความยืดหยุ่นสูงพอที่จะรองรับกับเหตุไม่คาดหมาย โดยพร้อมให้คนปรับเปลี่ยนไปสู่โหมดการเรียน และการทำงานรูปแบบอื่นๆ ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลสาธารณะ หรือเหตุผลส่วนตนก็ตาม 

เมื่อต้นเดือน มี.ค. มลรัฐวอชิงตัน ออกประกาศแนะนำอย่างจริงจังให้ทุกคนทำงานจากที่บ้าน ซึ่งก็ทำให้บริษัทชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์ อเมซอน และสตาร์บั๊คส์ รวมทั้งมหานครซีแอทเทิลมีคำสั่งให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้โดยให้มีผลในทันที ซึ่งน่าจะแปลว่าทั้งนโยบายและระบบการทำงานของบริษัทเหล่านั้นน่าจะเอื้อให้รองรับการทำงานในสถานการณ์รูปแบบนี้ได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก 

ธรรมศาสตร์เอง ก็ได้ออกประกาศให้อาจารย์สามารถใช้รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ทดแทนการเข้าชั้นเรียนตามปกติได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น และอยู่ในระหว่างการพัฒนาแนวทางให้นักศึกษาสามารถประสมการเรียนวิชาต่าง ๆ แบบ “ออนไลน์” และ “เข้าชั้นเรียน” ได้ตามความจำเป็นเฉพาะตนเพื่อให้กลายเป็น “วิถีการเรียนปกติ” ในธรรมศาสตร์ต่อไปในอนาคต

ถึงเวลาที่ทุกองค์กรควรพึงประเมินว่า ที่ผ่านมา สามารถดำเนินกิจกรรมในการทำงานตามพันธกิจได้ในลักษณะปกติได้มากน้อยเพียงใด สามารถออกนโยบาย/มาตรการใหม่ๆ ได้อย่างทันควัน รวมทั้งสามารถทำให้คนในองค์กรทำตามมาตรการใหม่ๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด 

หากทำได้ดี ก็แปลว่าองค์กรมีความเป็น Agility สูง ซึ่งเป็นลักษณะองค์กรที่จะอยู่รอดอย่างสำเร็จในโลกยุคใหม่ (Agility อาจแปลเป็นไทยได้ไม่ตรงนัก แต่มักถูกใช้เพื่อสื่อความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ประมาณว่าถ้าเป็นคนที่เดินไปแล้วสะดุดอะไรก็สามารถตีลังกา หรือกลับมาตั้งหลักเดินต่อได้อย่างไม่ติดขัด หรือไม่ถูกทำให้ถลาล้มจนออกนอกลู่นอกทางไปไกล/นาน)

การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา และการทำงานควรถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกองค์กรตระหนักในความสำคัญ และจำเป็นในการพัฒนาองค์กรของตนเองให้เท่าทันกับปรากฏการณ์ของโลกสมัยใหม่ ที่มีเหตุไม่คาดหมาย และความไม่แน่นอนเป็น “ปรากฏการณ์ปกติ” ที่แม้จะคาดการณ์ไม่ได้ว่าอะไรจะมา และจะมาเมื่อไหร่ แต่ที่รู้ได้แน่นอนคือ “จะมาแน่” และ “จะมาเรื่อย ๆ” ที่สำคัญนี่ไม่ใช่วาระแห่งชาติวาระเดียวที่รัฐบาลต้องตระหนัก เพราะที่สำคัญไม่แพ้กันและจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เพราะต้องใช้เวลานานในการพัฒนา 

หากไม่เร่งดำเนินการล่วงหน้ารอให้ปัญหาเกิดขึ้นมา ก็จะต้องอยุ่ในสภาพที่มีปัญหานั้นไปอีกหลายปีจึงจะแก้ไขได้ ปัญหาที่ว่านั้นก็คือเรื่อง ช่องว่างทางทักษะ” ระดับประเทศที่จะเป็นปัญหาทับซ้อนถึง 2 ชั้น (Double Jeopardy) ที่จะขอนำเสนอให้ร่วมกันคิดและเสนอเป็นวาระแห่งชาติในโอกาสต่อไป

โดย... 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์