COVID-19 กับมาตรการรับมือทางกฎหมาย

COVID-19 กับมาตรการรับมือทางกฎหมาย

ปัจจุบันสถานการณ์ของโรค COVID-19 นับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างกว้างขวางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศ

 จนมีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในการแก้ปัญหาดังกล่าวนอกจากการออกมาตรการทางสาธารณสุขแล้ว มาตรการทางกฎหมายนับเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค

สำหรับไทย แม้สถานการณ์จะยังไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่นๆ แต่ก็มีการตื่นตัวเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าการระบาดอาจรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยมาตรการทางกฎหมายของไทยที่มีเพื่อรับมือมีดังนี้

ประการที่ 1 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ชื่อและอาการของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย

ผลของประกาศดังกล่าวทำให้สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ  ปี 2558 ได้ เช่น พนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจในการสั่งให้แยกกัก กักกัน หรือคุมตัวไว้สอบสวน ดังนี้ เมื่อมีคำสั่งให้ผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงต้องทำการกักตัวเองในเคหสถาน 14 วัน หากไม่ดำเนินการ ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 51 พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ประการที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคอันตราย กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ปี 2563 มีการกำหนดให้สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน (รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊าและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง) สาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย อย่างไรก็ตาม พื้นที่เสี่ยงดังกล่าวอาจมีการถูกปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยสะสมและจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ประกาศฉบับนี้มีผลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถที่จะทำการควบคุมและป้องกันโรคในผู้เดินทางมาจากพื้นซึ่งเป็นเขตติดโรคอันตรายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที เช่น นำผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อมารับการตรวจหรือกักกัน ณ สถานที่ที่กำหนด รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งเมื่อพบผู้ที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อ แต่ไม่ยอมแจ้งหรือไม่แจ้งภายในเวลาที่กำหนด

ประการที่ 3 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยกำหนดให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. สถานพยาบาล ปี 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) ปี 2559

โดยมาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล ปี 2541 กำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ และหากมีความจำเป็นต้องส่งต่อหรือผู้ป่วยต้องการจะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น สถานพยาบาลนั้นต้องจัดให้มีการส่งตัวไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประการที่ 4 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกประกาศเรื่องแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยกำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องให้ความรู้แก่ลูกจ้าง ทำความสะอาดที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ จัดหาสบู่ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ให้กับลูกจ้าง ส่วนสถานประกอบกิจการที่มีความสุ่มเสี่ยง เช่น มีลูกจ้างป่วยเป็นจำนวนมาก ให้พิจารณาหยุดการผลิตหรือการบริการทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อให้ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัว และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับในต่างประเทศก็มีการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น ประเทศสิงคโปร์มีมาตรการห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ อิหร่าน และทางตอนเหนือของอิตาลีในช่วง 14 วัน เดินทางเข้าประเทศ ส่วนพลเมืองสิงคโปร์และผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในสิงคโปร์ที่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวจะถูกกำหนดให้กักตัวอยู่ในเคหสถาน 14 วัน

ส่วนประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลกำหนดห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากมณฑลหูเป่ย์และมณฑลเจ้อเจียง ในช่วง 14 วัน เดินทางเข้าประเทศ รวมถึงห้ามชาวต่างชาติที่ถือพาสปอร์ตที่ออกโดยสองมณฑลข้างต้นเดินทางเข้าประเทศ นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้บริษัทต่างๆ ใช้นโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

สำหรับประเทศมาเลเซีย มีการกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างเดินทางมาจากไทย ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ต้องจัดให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจร่างกายทันที โดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และนายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างหากช่วงเวลาในการกักตัวเกินจำนวนสิทธิในการลาป่วย

มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นกลไกที่ช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรค

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง โดยงดเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับมาต้องมีการกักตัวเพื่อสังเกตอาการในที่พัก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด และพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการเข้าข่ายของโรค ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เราทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

โดย... 

ชญานี ศรีกระจ่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์