โอกาสการค้าไทยในลักเซมเบิร์ก

โอกาสการค้าไทยในลักเซมเบิร์ก

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ พร้อมคณะจากทีมประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน ASEAN DAY ประจำปี 2563

 ภายใต้หัวข้อ“Business Opportunities between Luxembourg and ASEAN” ณ สภาหอการค้าลักเซมเบิร์ก นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ของ ASEAN Day in Luxembourg ต่อเนื่องจากการจัดครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดงานเป็นอย่างมาก

งานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นาย Marc Hansen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล ลักเซมเบิร์ก และนาง Sylvie Lucas ปลัดกระทรวงต่างประเทศและกิจการยุโรปของลักเซมเบิร์ก กล่าวเปิดงาน ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสด้านค้าระหว่างสหภาพยุโรป(อียู) และอาเซียน รวมถึงลักเซมเบิร์ก ในรูปแบบ FTA ตลอดจนการพัฒนาทางการเงินการธนาคารอย่างยั่งยืน และมีนาย Jean Asselborn รัฐมนตรีต่างประเทศและกิจการยุโรปของลักเซมเบิร์ก และนาย Jean-Paul Senninger เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์ก ประจำประเทศไทยและอาเซียน เข้าร่วมประชุมด้วย

จากนั้นคณะเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และประเทศไทย ได้เข้าร่วมบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในทางธุรกิจและการลงทุนของประเทศอาเซียน ในแต่ละประเทศ โดยนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าไทยในปัจจุบัน ตลอดจนโอกาสทางการค้าการลงทุนในไทยสำหรับผู้ประกอบการลักเซมเบิร์ก เช่น ประเทศไทย 4.0 สิทธิประโยชน์ BOI และ EEC โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งประกอบด้วยคณะทูตานุทูต ภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน กว่า 100 คน ได้ร่วมหารือถึงแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างประเทศลักเซมเบิร์ก อียู และอาเซียน

158357920733

เอกอัครราชทูตของประเทศอาเซียน ทูตไทย และ รัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ร่วมถ่ายภาพที่ระลึกหลังการหารือ

ทั้งนี้ถือว่า “อียูและอาเซียน” เป็นพันธมิตรหลักร่วมกัน โดยสถิติการค้าล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอาเซียนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก โดยที่อียูเป็นคู่ค้าที่มากเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน และเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศ (provider of Foreign Direct Investment) ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน (3.4 แสนล้านยูโร) ในขณะเดียวกันอาเซียนเริ่มสนใจที่จะมาลงทุนการค้าในอียูเพิ่มมากขึ้น (1.41 แสนล้านยูโร จากสถิติในปี 2560)

ดังนั้นอียูและประเทศสมาชิก 27 ประเทศจึงมีความสนใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในระดับภูมิภาคกับอาเซียนต่อไป ในฐานะที่ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งประชาคมยุโรปร่วมกับเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ลักเซมเบิร์กได้ให้การสนับสนุนสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในการทำ FTA กับทางอียู โดยในขณะนี้ทั้งสิงคโปร์ และเวียดนามได้บรรลุข้อตกลง FTA กับทางอียูแล้ว ในด้านปริมาณการค้าระหว่างลักเซมเบิร์กกับอาเซียน พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงระหว่างปี 2555 ถึง 2561 โดยพบว่าตัวเลขด้านสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจาก 2.9 พันล้านยูโร เป็น 6.2 พันล้านยูโร

โดยประเทศลักเซมเบิร์กนั้นตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปยุโรป และแม้จะเป็นประเทศเล็กแต่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงที่สุดในอียู เป็นศูนย์กลางการเงิน การธนาคารที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าด้านพัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีระบบโลจิสติกส์และระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ เทคโนโลยีดาวเทียม การผลิตเหล็กอันทันสมัย ศูนย์กลางผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำหน่ายทั่วโลก บริษัทขนส่งทางอากาศ คือ Cargolux ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ตั้งของสถาบันยุโรปที่สำคัญ อาทิ Secretariat-General of European Parliament และ European Court of Justice และ European Investment Bank

หัวข้อการประชุมยังครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและประเด็นพหุภาคี อาทิ แนวทางความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) และการส่งเสริมนโยบายเกี่ยวกับการระดมทุนที่ยั่งยืนในประเทศอาเซียน เช่น บทนิยามของการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) การระดมทุนในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Exchange) โดยมีการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ต่างๆ จากสถาบันการเงินที่มีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการนำเสนอกรณีศึกษาจากบริษัทที่ระดมทุนในเรื่องนี้ด้วย และปิดท้ายด้วยการนำเสนอโดยกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย (Ministry of Higher Education and Research) ของประเทศลักเซมเบิร์ก โดยกล่าวถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆในอาเซียนในอนาคต

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนหารือการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมศูนย์ปรึกษาธุรกิจ (Business Clinic) เพื่อชักจูงการลงทุนนำโดยนางสาวศัลยา อักษรมัต ผู้อำนวยการบีโอไอแฟรงก์เฟิร์ต พร้อมด้วยนายนิษณะ ทวีพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทลักเซมเบิร์กหลายราย อาทิ Foundry Europe สนใจหาหุ้นส่วนด้าน Software ส่วน European Investment Bank สนใจปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลไทยในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ด้านบริษัท Impacity ซึ่งให้บริการด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ สนใจข้อมูลด้านการจ้างแรงงานในไทย และ OTAP Projects สนใจหาหุ้นส่วนด้าน Fintech ในไทย และ CTI systems สนใจขายเครื่องจักรในกิจการ Maintenance, Repair and Overhaul (MRO)

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ พร้อมคณะยังได้พบหารือกับนาย Claude Marx, Director General, Commission de Surveillance du Secteur Financier (CSSF) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของลักเซมเบิร์ก ซึ่งเทียบเท่ากับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทย และนาง Daniele Berna-Ost, Secretary General, CSSF เพื่อขยายความร่วมมือทั้งด้านนวัตกรรมทางการเงิน (Financial Innovation) และในเรื่องการส่งเสริมนโยบายเกี่ยวกับการระดมทุนที่ยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาเรื่อง Green Bond หรือตราสารหนี้สีเขียวในไทย ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมาระยะหนึ่งแล้วในฐานะเป็นตราสารหนี้ประเภทใหม่ในการระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว เป็นต้น รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ของเครื่องมือในการลงทุน (Investment Vehicle) ของไทยในต่างประเทศ

ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจระดมทุนด้วยการออก Green Bond รวมถึงมีนักลงทุนสนใจลงทุนกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในส่วนของตลาดไทยนั้น กิจการไทยเริ่มมีการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน Green bond และ Social bond ครั้งแรกในปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีกิจการทั้งสิ้น 6 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ต่อไปคาดว่าจะมีการออกเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

158380807937

ภาพ: นาง Daniele Berna-Ost, Secretary General, CSSF รับของที่ระลึก จากนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ภายหลังการหารือ ที่Commission de Surveillance du Secteur Financier (CSSF) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของลักเซมเบิร์ก

ซึ่งภายหลังจากที่สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ม.ค. 2563 อาจเริ่มมีหลายบริษัทในอังกฤษย้ายมายังลักเซมเบิร์ก เพื่อใช้ประโยชน์ในฐานะที่ลักเซมเบิร์กมีความเชี่ยวชาญและเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับบริษัทไทยเช่นกันที่จะขยายฐานผู้ลงทุนให้เปิดกว้างและครอบคลุมสถาบันในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป

ปัจจุบันนักลงทุนชาวยุโรปให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้ง 3 มิติ คือ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เครื่องมือในการลงทุน (Investment Vehicle) ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินระดับจุลภาค (Microfinance) Green Bond หรือ การระดมทุนเกี่ยวกับการพัฒนาในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ได้รับการติดฉลาก Finance-label จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวยุโรปและมีแนวโน้มที่จะได้รับการเลือกซื้อจากนักลงทุนชาวยุโรปเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะเครื่องมือการลงทุนที่ติดฉลาก Finance-label ได้รับการรับรองแล้วว่ามีการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ประเทศลักเซมเบิร์กมีหน่วยงานในการออกฉลาก ชื่อ Luxembourg Finance Labelling Agency (LuxFLAG) หากเครื่องมือการลงทุนของผู้สมัครรายใด มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ก็จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ฉลาก Finance-label ได้นาน 1 ปี ทั้งนี้ สามารถดำเนินการขอต่ออายุได้ การติดฉลาก Finance-label จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งของกิจการไทยที่ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศในการเสริมสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ