ม็อบอย่างไรให้ได้ผล

ม็อบอย่างไรให้ได้ผล

การออกมารวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทยเป็นเรื่องน่าชื่นชม

เพราะสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ห่วงใยความเป็นไปของชาติ ซึ่งน่าจะดีกว่าการไม่คิดทำอะไร อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจดีเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ผู้ร่วมเคลื่อนไหวควรเข้าใจหลักการทางเศรษฐศาสตร์ 5 ข้อที่จะทำให้ม็อบทรงพลัง สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้

หลักการข้อที่ 1 ลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด (Minimizing negative externalities) ผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากม็อบไม่ได้มีแค่เสียงดัง รถติด ความแออัด ซึ่งเป็นเรื่องที่พอเข้าใจและยอมรับได้ ผลกระทบทางลบซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดเกิดจากการเลือกใช้คน โดยเฉพาะคนที่เป็นแกนนำ หลายคนมีความคิดความอ่านที่ดี พูดบนหลักการของเหตุผลที่ผ่านการค้นคว้าขบคิดมาดีแล้ว หลังชุมนุมเสร็จทำความสะอาดพื้นที่ได้เรียบร้อย เห็นแล้วน่าชื่นใจเหลือเกิน

แต่มีบางคนหวังใช้โอกาสนี้แจ้งเกิดจึงเลือกใช้คำรุนแรงเพื่อสร้างอารมณ์เกลียดชังให้แพร่ไปทั่ว แสดงออกด้วยความไม่สุภาพ เพื่อเรียกร้องความสนใจโดยไม่คิดว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลกระทบทางลบต่อความรู้สึกของคนสังคมเป็นวงกว้าง คนแบบนี้เป็นตัวการทำลายพลังในการเคลื่อนไหว ทางที่ดีควรจำกัดบทบาทเขาไว้แค่เป็นผู้ชมอยู่ห่างๆ ก็พอ

หลักการข้อที่ 2 รุกคืบอย่าคิดกินรวบ (Aiming for marginal gain) ด้วยความเป็นวัยรุ่นที่มีพลังเหลือเฟือย่อมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว แต่หากศึกษาประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเกิดจากการรุกคืบทีละขั้นตามแผนที่วางไว้ เพราะการรุกคืบย่อมเกิดแรงต้านน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบฉับพลันทันที ดังนั้นการเคลื่อนไหวควรมีแผนชัดเจนว่าม็อบแต่ละครั้งจัดขึ้นเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่การจัดอีเวนท์เพื่อดึงความสนใจ ขอให้ท่องไว้ว่าน้ำหยดเล็กๆ ถ้ามีมากพอย่อมกลายเป็นแม่น้ำที่ทรงพลังสามารถทำลายสิ่งกีดขวางได้

หลักการข้อที่ 3 ภาพรวมของสังคมต้องดีขึ้น (Pareto improvement) สมมติว่าโลกนี้มีคนสองคน หากคนหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่อีกคนชีวิตไม่ได้แย่ลง ก็เท่ากับว่าโลกนี้ได้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ถ้าใช้กรอบคิดนี้มาเป็นหลักในการเคลื่อนไหว เราจะไม่โจมตีคนเห็นต่างเพื่อให้เขารู้สึกแย่ลง เพราะการทำแบบนั้นแม้เราชนะแต่สังคมย่อมตกเป็นผู้แพ้ ความงดงามของประชาธิปไตยคือการเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ เปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่แตกต่างสามารถเติบโตงอกงามไปด้วยกันได้ การลดการเลิกปะทะเพื่อสร้างศัตรูรอบทิศ แล้วเอาพลังมาใช้เดินตามเกมที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ จะทำให้สังคมนี้ดีขึ้นโดยฝ่ายเห็นต่างบอบช้ำน้อยที่สุด นั่นย่อมหมายความว่าภาพรวมของสังคมได้ดีขึ้นแล้ว

หลักการข้อที่ 4 แยกตัวเองออกจากพรรคการเมืองเพื่อลดปัญหาการเลือกที่ไม่พึงประสงค์ (Adverse selection) และจริยวิบัติ (Moral hazard) พรรคการเมืองเป็นแค่เครื่องมือที่พาเราไปสู่จุดหมาย ถ้าใช้งานได้ดีก็ใช้ต่อไป วันไหนใช้ไม่ได้ก็ไปหาเครื่องมือใหม่มาแทน พรรคการเมืองรู้เรื่องพวกนี้ดี เลยพยายามทำให้เรากลายเป็นพวกเขาหากทำสำเร็จก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเอาใครมาเป็นสมาชิกของพรรค เพราะเลือกใครมาผู้สนับสนุนก็ยอมรับทั้งนั้น ไม่ต่างอะไรกับการซื้อประกันสุขภาพที่ไม่มีเงื่อนไขการตรวจสุขภาพ ซึ่งมีแต่คนป่วยที่แห่ไปซื้อประกัน

นอกจากนี้แล้ว หากพรรคการเมืองประสบความสำเร็จในการสร้างความรู้สึกร่วม พวกเขาก็จะกร่างขึ้นมาเพราะรู้ว่าจะทำอะไรก็ได้ ยังไงผู้สนับสนุนก็เลือกจะมองข้ามความไม่ดีงามเหล่านี้และสนับสนุนพรรคต่อไป เหมือนกันคนขับรถที่มีประกันชั้น 1 ฝ่าไฟแดงก็ได้ ชนใครก็ได้ ยังไงประกันก็ช่วย 

หลักการข้อที่ 5 ทำการใหญ่ใจต้องนิ่ง แต่ไม่ทิ้งเมตตาธรรม (Cool head but warm heart) อัลเฟรด มาร์แชล นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่เคยกล่าวไว้ว่าเราควรมีจิตใจที่เยือกเย็น มองอะไรให้ทะลุปรุโปร่งโดยไม่ปล่อยให้อารมณ์มาบดบังสายตา เมื่อเห็นความจริงแล้ว จงตัดสินใจด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อผู้คนทั้งมวลคำว่า “ผู้คนทั้งมวล” ย่อมไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว แต่หมายถึงคนทั้ง 66.5 ล้านในบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อประเทศไทย ลองเปลี่ยนโจทย์คิดใหม่ว่าต้องการเปลี่ยนประเทศไทยเพื่อทุกคน แล้วจะรู้เองว่าท่าทีเช่นไรที่เหมาะสม

ขอให้รู้ไว้ว่าหากคนรุ่นใหม่สามารถพิสูจน์ตนเองว่าพร้อมรับไม้ต่อเพื่อนำประเทศนี้ไปข้างหน้า คนรุ่นก่อนหน้าจำนวนไม่น้อยก็พร้อมก้าวไปพร้อมกับพวกคุณ ดังนั้นการเคลื่อนไหวจะสำเร็จหรือล้มเหลวจึงขึ้นอยู่กับตัวตนของพวกคุณเอง ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้เลย