คุยเรื่องเพศ

คุยเรื่องเพศ

ชื่อเรื่อง อาจจูงใจให้บางคนแวะเข้ามาอ่าน ก็บอกไว้เลยว่าจะคุยเรื่องเพศจริงๆนะ แต่จะตรงกับใจหรือไม่ ต้องติดตามครับ

การหยั่งเสียงเลือกตั้งผู้แทนพรรคเดโมแครท เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน มีผู้สมัครหนุ่มชื่อ Pete Buttigieg อายุเพียง 38 ปี เขาเป็นเกย์ และแต่งงานกับสามีเพศเดียวกันอย่างเปิดเผย คะแนนของ Pete มาแรงมากในช่วงแรก เขาเป็นเกย์คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ที่ได้รับคะแนนนิยมสูง แม้จะประกาศออกจากการแข่งขันไปแล้ว แต่ก็ทำให้คนอเมริกันประทับใจยิ่งนัก

ส่วน ทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ก็สมรสกับเพศเดียวกัน และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าโลกเราทุกวันนี้ ความหลากหลายทางเพศสภาพ และคำว่า LBTG ถือเป็นเรื่องปกติแล้ว

 แต่ คุยเรื่องเพศวันนี้ เป็นเรื่องของ ผู้หญิงแท้ๆ ครับ เพราะถึงแม้ LBTG จะไปไกลพอควร แต่ ผู้หญิงแท้ๆ ก็ยังมีการรณรงค์เรียกร้องสิทธิ ในบางเรื่อง เช่น นักแสดงหญิง หรือ นักกีฬาหญิงบางประเภท ยังมีการเรียกร้องค่าจ้างหรือเงินรางวัล ให้เท่าเทียมฝ่ายชาย เป็นต้น

 ในเมืองไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มีนาคมนี้เอง รองนายกฯ จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ และ 24 องค์กร ก็ได้จัดงานประกาศเจตนารมณ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิด ความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่นกัน แต่ผมจะคุยเรื่องผู้หญิง เฉพาะในวงการธุรกิจ นะครับ

 บอกเลยว่า ปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้ผู้หญิง มีโอกาสขึ้นเป็นซีอีโอ หรือเป็นบอร์ดของบริษัท มากยิ่งขึ้น

 ผู้หญิงมีความสามารถ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาย แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนของ ผู้หญิง ที่ดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ หรือ บอร์ดของบริษัท มักจะน้อยกว่าผู้ชาย และเป็นเช่นนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว

 ส่วน ประเทศไทย เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก เพราะเรามี ผู้หญิงจำนวนมาก ได้เป็น ซีอีโอ และบอร์ด เพียงแต่โดยรวม ก็อาจจะยังมีสัดส่วนน้อยกว่าชาย

 ประเทศตะวันตก ดูจะมีกระแสเรียกร้องมากกว่าไทยเรา และได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม “Fortune 500” ได้แต่งตั้ง กรรมการใหม่ ระหว่างปี 2009-2017 รวม 462 คน ในจำนวนนั้น สัดส่วนกรรมการใหม่ที่เป็นหญิง เพิ่มจาก 18% ในปี 2009 เป็น 40% ในปี 2017

 นอกจากนั้น องค์กรประเมินผล ธรรมาภิบาล (Governance) และ ความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะหลัง ก็ได้เพิ่มตัวชี้วัดในการประเมินเพิ่มขึ้นตัวหนึ่ง ที่เรียกว่า สัดส่วนของสตรี ที่นั่งเป็นบอร์ด

 เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้บริษัททั้งหลาย พิจารณาแต่งตั้งผู้หญิงให้เป็นบอร์ด มากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าบริษัทมีบอร์ด 10 คน แต่ไม่มีผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว ก็จะถูกหักคะแนนทันที ถ้ามี 1 คน คะแนนก็ดีขึ้น ถ้ามี 2 หรือ 3 คน คะแนนก็เพิ่มขึ้นอีก ตามลำดับ

 ฟังเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะย้อนหลังไปนับสิบๆปี ทั้งไทยและต่างประเทศ มีบอร์ดของบริษัทส่วนใหญ่ ที่เป็นชายมากกว่าหญิง และบางบริษัทก็เป็นชายล้วน

 ทั้งๆที่ในระดับพนักงาน ก็มีชายและหญิงจำนวนใกล้ๆกัน บางแห่งอาจมีหญิงมากกว่าชายด้วยซ้ำ แต่พอตำแหน่งสูงขึ้น กลับเป็นชายมากกว่าหญิง และเมื่อถึงระดับบอร์ด ส่วนใหญ่ก็เป็นชาย เป็นเช่นนี้แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วครับ

 เลยต้องหาวิธีแก้ที่ได้ผล คือ องค์กรประเมินผล กำหนดเป็นตัวชี้วัดเสียเลย บริษัทใดอยากได้คะแนนก็ต้องทำ

 จะเรียกว่าให้เกิด ความเสมอภาคทางเพศ" ก็ได้ หรือจะเรียกว่า ความหลากหลายทางเพศ ก็อาจจะพอพูดได้

 เพราะว่าแนวคิดเบื้องต้นก็คือ บอร์ดที่ดี ควรมี ความหลากหลาย (Diversity) เช่น ความหลากหลายทาง อายุ โดยมีทั้ง คนหนุ่มคนสาวและผู้อาวุโส หรือ ความหลากหลายทาง วิชาชีพ เช่น มีทั้งวิศวกร นักการเงิน นักการตลาด นักบัญชี นักกฎหมาย เป็นต้น

 เชื่อกันว่า ถ้าบอร์ดมี ความหลากหลายจะทำให้การกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร มาจากมุมมองที่หลากหลาย และมีความรอบคอบมากขึ้น รวมทั้งการตัดสินใจ ก็จะมีความผิดพลาดน้อยลง 

 ที่จริง บอร์ดก็มีความหลากหลายกันมานานแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง วิชาชีพ ของบอร์ดแต่ละคน เพียงแต่ว่าหลายบอร์ด มีผู้ชายมากไปหน่อย เลยทำให้ความหลากหลายทางเพศมีน้อย ก็เท่านั้นแหละครับ

กระแสเรียกร้องอย่างนี้ คงจะดำเนินต่อไปครับ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 นี้เอง Goldman Sach วานิชธนากรระดับโลก ได้ประกาศว่า จะไม่รับเป็นที่ปรึกษา ให้แก่บริษัทใด ที่ประสงค์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าหากว่าบริษัทนั้น ไม่มีผู้หญิง นั่งในบอร์ดเลยแม้แต่คนเดียว

 แต่ก็มีคนวิจารณ์ Goldman Sach ว่าประกาศแบบนี้ ก็คือการหาคะแนนเสียง ด้วยการ ขี่กระแส ก็แล้วแต่จะคิดครับ แต่หน่วยงานไทยที่ประเมินธรรมาภิบาล อย่างเช่น IOD ก็มีตัวชี้วัดในเรื่องผู้หญิงในบอร์ด เช่นกัน

นักวิจารณ์บางคนในประเทศตะวันตก วิจารณ์ว่าการรณรงค์ “ให้มีผู้หญิงในบอร์ด เพิ่มขึ้นหากระบุเพียงสั้นๆแค่นี้ ก็ยังไม่พอนะ เพราะมีอีกหลายมิติที่ต้องคิดถึง เช่น สีผิว หรือ เพศสภาพ เขาบอกว่าถ้าหากกำหนดแค่ให้เป็น ผู้หญิง เฉยๆ ก็จะมีการเอนเอียง จนในที่สุดก็ได้เพียง ผู้หญิงผิวขาว เท่านั้นแหละ

แต่ผู้หญิงผิวสี หรือที่เปลี่ยนเพศสภาพ ก็จะถูกละเลย พูดง่ายๆคือกลุ่มนี้เรียกร้อง “ความหลากหลายทางเพศ” แบบเต็มแม็ก เลยครับ

มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้แหละ เรียกร้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลา และพัฒนาการของสังคม ก็ขนาดสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ยังมีพัฒนาการเลย แล้วทำไมสัตว์ที่เฉลียวฉลาดที่สุด อย่างมนุษย์ จะไม่พัฒนาเล่าครับ

มาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึง เรื่องฉุกเฉิน เรื่องหนึ่ง ที่มนุษย์ต้องเร่งพัฒนา ด่วนที่สุด นั่นก็คือพัฒนา ยารักษาโคโรนาไวรัส และวัคซีนป้องกัน ครับ

เพราะเจ้าตัวเล็กกระจิริด สวมมงกุฎน่ารัก มันกระโดดจากตลาดสด ออกมาอาละวาดจน มนุษย์ล้มตาย และตกงานกันไปทั่วโลกแล้ว

เวลานี้ไปไหน ก็จำหน้าใครไม่ได้ เพราะเห็นเพียงครึ่งหน้าเท่านั้นเอง ถ้าหากไม่รีบจัดการกับเจ้าโคโรน่า ก็ไม่รู้ว่า เมื่อไร มนุษย์จะเลิกใส่หน้ากาก เข้าหากัน เสียที

มาช่วยกันเชียร์ นักวิจัย (เพศใดก็ได้นะ!).... เอามันให้อยู่หมัดครับ