COVID-19 ฉุดสินเชื่อไทยหดตัว-ด้อยคุณภาพ    

COVID-19 ฉุดสินเชื่อไทยหดตัว-ด้อยคุณภาพ    

ตอนนี้เราคงเห็นแล้วนะครับว่าสถานการณ์ความรุนแรงของไวรัส COVID19 ได้เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยทั่วไปแล้ว ผลของสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำลงนั้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเฉพาะในด้านปริมาณและคุณภาพของสินเชื่อ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2562 สามารถแสดงให้เห็นความจริงนี้ได้เป็นอย่างดีครับ เพราะในปีที่แล้ว สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตเพียง 2 % โดยมียอดรวมทั้งสิ้น 13.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงจากเดิมที่เติบโตสูงถึง 6 % ในปี 2551

หากเรามาดูให้ละเอียดขึ้น จะพบว่า มีการหดตัวของสินเชื่อที่ร้อยละ 1.9 ในสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบหนักคือ อุตสาหกรรมในภาคบริการและภาคการผลิต ที่มีการหดตัวที่ร้อยละ 16.6 และ 3.3 ตามลำดับจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สอดคล้องกับการบริโภคที่ลดลงและผลกระทบผ่านซัพพลายเชนจากสงครามการค้า ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ก็มีการชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยหดตัวร้อยละ 2.1 จากปีก่อน อุตสาหกรรมการผลิตและการค้าถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากทั้งสองอุตสาหกรรมมีการหดตัวของสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 7.7 และ 1.9 ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ได้อยู่เพียงแค่ปริมาณสินเชื่อที่ลดลงเท่านั้นนะครับ แต่คุณภาพของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ก็มีการปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดย ณ สิ้นปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปีอยู่ที่ 465 พันล้านบาท (Gross NPL)  เพิ่มขึ้น 21 พันล้านบาทจากสิ้นปี 2561  โดยสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เมื่อสิ้นปี 2562 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.98 โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.94 สินเชื่อธุรกิจ SME เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อด้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.63 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 4.56 ในปี 2561 ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมี NPL Ratio เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.90 จากเดิมที่ร้อยละ 2.67

ในปี 63 นี้ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ 3 ปัจจัยเสี่ยงหลัก อันได้แก่ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ปัญหาการล่าช้าของงบประมาณรัฐ และ วิกฤตภัยแล้ง ปัจจัยเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยลงต่อเนื่องไปอีก และจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มปริมาณสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับในปีที่แล้ว  เมื่อทิศทางคุณภาพของสินเชื่อปรับตัวด้อยลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้สถาบันการเงินเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลเสียต่อสภาพเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่เศรษฐกิจไทยได้

ด้วยเหตุนี้ เราถึงได้เห็น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมมือกับสภาบันการเงินต่างๆ ออกเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ มาตรการชุดนี้ นอกเหนือจากช่วยเหลือลูกค้าของสถาบันการเงินแล้ว ในอีกทางนึงก็เป็นการช่วยเหลือดูแลระบบสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น สามารถช่วยจัดการปัญหาได้ก่อนที่หนี้เสียจะทวีเพิ่มมากขึ้นจนยากที่จะแก้ไข อีกทั้งยังช่วยเหลือในการลดการกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ยังได้ใช้ ที่จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ลดลง

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการชุดนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไทยให้มั่นคง ผ่านการช่วยสนับสนุนคุณภาพของสินเชื่อไม่ให้มีการปรับตัวลดลงมาก แม้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลงในปีนี้ก็ตาม ผมจึงอยากเชิญชวน ให้ผู้อ่านที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ เข้าปรึกษาปัญหากับสถาบันการเงินของท่าน เพื่อดำเนินแนวทางช่วยเหลือ ฝ่าปัญหาเศรษฐกิจในปีนี้ไปด้วยกันครับ