แนวทางแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม

แนวทางแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม

ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นพิษมีปริมาณสูง ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ฯลฯ เป็นปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมการผลิต การบริโภคของมนุษย์

 เช่น การใช้รถยนต์ที่ปล่อยไอเสีย การใช้พลังงานจากฟอสซิล(น้ำมัน กาซ ถ่านหิน)ในโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ ครัวเรือน การเผาซากพืช ขยะ การทำเกษตรที่ใช้สารเคมี ฯลฯ ทำให้เกิดมลภาวะในชั้นบรรยากาศ น้ำ และดิน เกิดภาวะโลกร้อน (อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้น) ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ระบบธรรมชาติขาดความสมดุล เกิดภัยพิบัติบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น

ตัวการสำคัญคือ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมของรัฐบาลทั่วโลก ที่นายทุนแข่งขันกันผลิตสินค้าและบริการ ทำลายทรัพยากรและทำลายระบบนิเวศในอัตราสูงกว่าที่ระบบนิเวศจะดูดซับและฟื้นฟูสร้างใหม่ได้ทัน เช่น การจับปลาในทะเลมากเกินไป ใช้น้ำจืดมากเกินไป ใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเกินไป ตัดไม้ทำลายป่า การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรแบบอุตสาหกรรม และบริการอื่นๆ ที่ใช้ทรัพยากร/พลังงานมากไป ฯลฯ

แนวทางแก้ไขมี 2 วิธีการใหญ่คือ 1. การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค เช่น การเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม คลื่นในมหาสมุทร ความร้อนใต้พื้นโลก ชีวมวล ฯลฯ ทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เกษตรทางเลือก การเปลี่ยนไปบริโภคพืชแทนเนื้อสัตว์ การออกแบบการผลิตและการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่จำเป็น ให้ลดการใช้ทรัพยากร การใช้พลังงานลง ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนแปลงกากเหลือใช้ให้นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ (Ecodesign) การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอน จากการใช้พลังงานและการผลิตการบริโภคที่สร้างมลภาวะมากในอัตราที่สูง เพื่อลดการผลิต การบริโภคในแนวนี้ ฯลฯ

แนวทางที่ 2 คือ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมแบบผ่าตัดเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ โดยใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศ หรือที่ดีที่สุด คือ สังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศมาแทนที่แนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (จีนคือทุนนิยมโดยรัฐรูปแบบหนึ่ง)

เพราะปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทั้งระบบ การจะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้จริงจังต้องรวมถึงกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานที่เหมาะสมทำ ฯลฯ สู่ประชาชนทั้งหมดอย่างเป็นธรรม เน้นการผลิตและการบริการทรัพยากรสำคัญแบบรวมหมู่ โดยสหกรณ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค วิสาหกิจชุมชน สภาคนงาน บริษัทมหาชนที่คนงาน ผู้บริโภคถือหุ้น ฯลฯ เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่มากกว่าเพื่อกำไรของธุรกิจเอกชน เน้นการผลิตสินค้าและบริการเท่าที่จำเป็น เป็นประโยชน์ในแง่มูลค่าใช้สอย มากกว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน เน้นเรื่องการเจริญเติบโตทางคุณภาพของชีวิตของประชาชนและสังคมมากกว่าการเจริญเติบโตของสินค้าและบริการ (GDP)

ระบบเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่ดี ควรเน้นการกระจายทรัพยากร การผลิต การบริโภค ไปที่ชุมชน เมืองขนาดเล็ก ที่พึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้เป็นส่วนใหญ่ (แทนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง) เพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้และการดำรงชีพที่พอเพียงเพิ่มขึ้น ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเดินทาง ไม่ต้องขนส่งสินค้าทางไกล ทั้งชุมชน เมืองขนาดเล็กจะลงทุนและบริหารโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค การศึกษา พยาบาล การขนส่ง การผลิตพลังงาน ฯลฯ ได้ต้นทุนต่ำกว่า มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมได้ดีกว่าเมืองใหญ่ ครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกัน ประชาชนในแต่ละชุมชนก็จะใกล้ชิด พึ่งพา ร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมมากกว่าเมืองใหญ่ที่คนรู้สึกแปลกหน้าต่อกันและกัน

วิธีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคการออกแบบเพื่อระบบนิเวศ เช่น ใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้การเกษตรทางเลือก การจัดกลุ่มคัสเตอร์อุตสาหกรรมแบบนำของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมไปผลิตอย่างอื่น การออกแบบอาคารที่ประหยัดการใช้พลังงาน ฯลฯ จะทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และถ้าทำกันจริงจังอย่างน้อยจะเป็นการปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจในภายหลังได้

ตัวอย่างการออกแบบเพื่อระบบนิเวศที่น่าสนใจ เช่น โครงการวิจัยเพื่อลดของเสียขับออกให้เท่ากับศูนย์ ที่ได้ทดลองทำกับไร่กาแฟแห่งหนึ่งในโคลัมเบีย เอาส่วนที่เหลือของต้นกาแฟหลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟไปแล้วไปใช้ปลูกเห็ดหอม ส่วนที่เหลือของเห็ดนำไปใช้เลี้ยงไส้เดือน ปศุสัตว์ ไส้เดือนนำไปเลี้ยงไก่ มูลของปศุสัตว์นำไปผลิตก๊าซชีวภาพ กากของเสียที่เหลือจากการทำก๊าซชีวภาพนำไปเป็นปุ๋ยของกาแฟและสวนผัก พลังงานชีวภาพหมุนเวียนเอาไปใช้ในกระบวนการเพาะเห็ด การรู้จักใช้ของเสียให้เกิดประโยชน์เช่นนี้ นอกจากลดขยะแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้ชุมชนด้วย

โรงงานผลิตเบียร์ในบราซิลตอนใต้ ผนวกรวมกับการทำสาหร่ายสไปรูไลนา ในระบบคลองชลประทานที่ส่งน้ำไปนาข้าว สาหร่ายซึ่งมีคุณค่าทางอาหารนำไปผสมทำเป็นคุ๊กกี้ขิงช่วยเด็กในโรงเรียนชนบทปัญหาภาวะการขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์

พลังงานแสงอาทิตย์สามารถทำน้ำร้อน กลั่นน้ำกลั่น ปรุงอาหาร ทั้งสำหรับชุมชน โรงพยาบาล และยังทำประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง นี่คือตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น (จากฟริตจ๊อฟ คาปร้า โยงใยที่ซ่อนเร้นสนพ.สวนเงินมีมา 2548)

กล่าวโดยสรุป เราควรกลับไปศึกษาระบบธรรมชาติอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม ว่าธรรมชาติคือกระบวนการ คือความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่สิ่งของที่แยกเป็นร้อยๆ ชิ้น ทุกสิ่ง (ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต) เกี่ยวข้องสัมพันธ์ พึ่งพากัน ช่วยเหลือกัน ให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอด ระบบธรรมชาตินั้นดำเนินมาอย่างพยายามรักษาความสมดุล เพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอดมาอย่างน้อย 4,500 ล้านปีแล้ว มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ควรจะเรียนรู้ เคารพธรรมชาติ และเรียนรู้วิธีการทำงานของธรรมชาติเพื่อประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

กรอบคิดการพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ว่ามองว่าธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุชนิดต่างๆ และมนุษย์สามารถใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเอาชนะธรรมชาติได้ สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดเลยนั้น เป็นความหลงผิด หลงตัวเองและความโลภของพวกนายทุนและพ่อค้า โลกเป็นเพียงดาวดวงเล็กๆ ในจักรวาลที่มีทรัพยากรจำกัดที่หลายอย่างหมดไปได้ บางอย่าง เช่น น้ำจืด อากาศบริสุทธิ์ สัตว์น้ำในทะเล ป่าไม้ ฯลฯ ธรรมชาติผลิตทดแทนขึ้นใหม่แบบหมุนเวียนได้ แต่อยู่ในเงื่อนไขคือต้องรุ้จักทยอยใช้ในขอบเขตที่เหมาะสม ไม่ใช้มากไป เร็วเกินไป จนขาดความสมดุล ผลิตทดแทนขึ้นใหม่ไม่ทัน บางอย่างสูญพันธ์ไป หมดไป

ดังนั้นทางเลือกคือ เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต ลดการผลิต การบริโภค สินค้าบริการ ที่ฟุ่มเฟือย หรูหรา เกินความจำเป็นในการยังชีพลงมาอย่างมาก ผลิตเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น เป็นประโยชน์ ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ เน้นเรื่องการเจริญงอกงามของคุณภาพชีวิตและสังคม มากกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) เน้นนโยบายพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทางระบบนิเวศสังคมถึงคนรุ่นหลังมากกว่า เพื่อการกอบโกยล้างผลาญ หากำไรสูงสุด บริโภคสูงสุดของคนกลุ่มน้อย อย่างที่กำกันอยู่ในปัจจุบัน