Circular Economy กับฉลากสิ่งแวดล้อม

Circular Economy กับฉลากสิ่งแวดล้อม

ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรจากการใช้แล้วหมดไป ปริมาณการเกิดขยะและของเสียที่มีมากขึ้นทวีคูณจากการใช้แล้วทิ้งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกกันว่า Circular Economy เป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจจากรูปแบบเดิมโดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรในการผลิตการบริโภค การจัดการของเสีย และสามารถนำของเสียนั้นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีกครั้ง ทำให้ความสมดุลเกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจ

บริษัทต่างๆ เริ่มตื่นตัวและนำแนวทาง Circular Economy มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัท “Close the Loop” นำตลับหมึกเครื่องพิมพ์และพลาสติกอ่อนมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนแทนการนำไปทิ้งบริษัทชั้นนำของไทยเองก็ได้นำแนวทางCircular Economy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากการดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบหรือทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้วิธีการดำเนินงานรูปแบบเดิมการดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy นอกจากจะช่วยให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ยังสามารถเพิ่มกำไรให้กับบริษัทจากการลดต้นทุนที่เกิดจากการลดการใช้ทรัพยากร พลังงาน เชื้อเพลิง และการจัดการของเสีย

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตจะนำแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบCircular Economyมาใช้แล้ว ธุรกิจบริการก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน เช่น การดำเนินธุรกิจประเภทร้านอาหารที่เล็งเห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการปรุงอาหารและการให้บริการ ไม่เพียงแต่คำนึงถึงการเกิดขยะปลายทาง แต่ยังคำนึงถึงการเกิดขยะตลอดกระบวนการเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการจัดซื้อ จัดเก็บ และเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการปรุงอาหาร แม้กระทั่งการจัดการกับเศษตัดแต่งที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Circular Economy

ร้านโบ.ลาน อาหารไทย เห็นความสำคัญตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กระบวนการเตรียมวัตถุดิบในแต่ละขั้นตอนที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุดและพยายามนำเศษวัตถุดิบเหลือนำกลับมาใช้ให้มากสุด ไม่เหลือเป็นขยะเช่น เปลือกตะไคร้นำมาต้มเป็นน้ำตะไคร้ใบเตย ข้าวสุกเหลือนำไปตากแห้งแล้วคั่วทำน้ำชาข้าวคั่ว ข้าวคั่วบดทำข้าวตูหรือนำไปทอดทำข้าวพอง ทำสบู่ล้างมือจากน้ำมันทอดอาหาร จนถึงกระบวนการจัดการกับขยะเพื่อให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด จนได้รับการรับรองร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Green Restaurant

ร้านBlackitch Artisan Kitchen เป็นอีกหนึ่งร้านทีมีวิธีการปรุงอาหารตามแนวคิด Zero Waste มีกระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาล เศษวัตถุดิบที่เหลือจากการปรุงอาหารจะนำไปหมักเป็นซอส เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เพื่อใช้ปรุงอาหารภายในร้าน เศษผักเหลือนำไปทำผักดอง ส่วนที่เหลือนำไปเลี้ยงไส้เดือนที่บริเวณระเบียงชั้น 3 ของร้าน ปุ๋ยและน้ำหมักที่ได้จากไส้เดือนนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนได้รับการรับรองร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Green Restaurant

จากที่กล่าวมาข้างต้นแนวคิดแบบ Circular Economy สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบ ทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการดำเนินธุรกิจและอาจต่อยอดไปยังการขอการรับรอง “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารต่อผู้บริโภคว่าการดำเนินกิจกรรมของธุรกิจนั้น ๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

โดย...

นางสาวฐิตาพร คำภู

ฝ่ายส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ฝ่ายส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย