ลงทุนอย่างไรเมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ขึ้นพร้อมกัน

ลงทุนอย่างไรเมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ขึ้นพร้อมกัน

ข้อมูลล่าสุดที่ผมค้นจาก Bloomberg พบว่า ตัวเลขการถือครองทองคำผ่านการลงทุน ETFs ปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง

ที่ปริมาณการถือครองทองคำสูงถึง 2,500 ตัน และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ค่อย ๆ ปรับขึ้นมาจนใกล้เคียง 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง

158194237155

เช่นเดียวกับราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด Yield พันธบัตรรัฐบาล 10 ปีสหรัฐฯ ยังคงยืนอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.60%

ขยายความอีกครั้งว่าสำหรับตลาดตราสารหนี้นั้น เมื่อมีแรงซื้อมากกว่าแรงขายจะส่งผลให้ Yield หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับตลอดช่วงระยะเวลาลงทุนลดลง ซึ่งหมายถึงราคาตราสารหนี้ที่แพงขึ้นนั่นเอง (ตลาดขาขึ้น = Yield ขาลง)

 ขณะเดียวกันราคาหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ก็อยู่ในทิศทางขาขึ้นเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดดัชนี S&P 500 และ NASDAQ ยังคงทำจุดสูงสุดใหม่อยู่บ่อยครั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 แปลว่าอะไร ? เมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ราคาปรับขึ้นพร้อม ๆ กัน

 โดยปกติเมื่อหุ้น หรือกลุ่ม Risky Asset ราคาปรับเพิ่มขึ้น มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับทองคำ และพันธบัตร ซึ่งเป็น Low Risk Asset ราคาปรับลดลง นั่นคือเมื่อตลาดหุ้นขาขึ้นนั้น เม็ดเงินลงทุนมักจะไหลจากทองคำ และพันธบัตรไปหาตลาดหุ้น

กลับกัน ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตไม่ดี เม็ดเงินลงทุนมักไหลออกจากตลาดหุ้น วิ่งไปหาทองคำ และพันธบัตร เนื่องจากกลัวความเสี่ยง

แต่วันนี้เรากลับเจอภาวะที่สินทรัพย์ลงทุน ทั้งเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำเหล่านี้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วยกัน

158194246557

 สิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2019 ที่ผ่านมาคือธนาคารกลางสหรัฐฯ กลับมาฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีกแล้ว ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Risk Free Asset อย่างพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น อยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบสถาบันการเงินไหลไปหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไหลไปที่การปล่อยกู้กับภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น และแน่นอนอีกส่วนหนึ่งก็ไหลไปที่สินทรัพย์การลงทุนต่าง ๆ

 โดยล่าสุดข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าสินทรัพย์รวมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นชั่วโมงนี้รวมกันสูงกว่า 14.5 ล้านล้านเหรียญเข้าไปแล้ว และเมื่อดูจากสัญญาณของธนาคารกลางทั้งสามประเทศล่าสุดก็ดูพร้อมที่จะเป่าลูกโป่ง ฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นต่อไปในปีนี้

  158194253663

 เมื่อกลับมาที่ภาคเศรษฐกิจจริง ดูเหมือนความพยายามฉีดเงินอย่างต่อเนื่องของเหล่าธนาคารกลางนั้นเริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกครั้ง โดย Citi Global Economic Surprise Index เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก หมายถึงตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มประกาศออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

 เช่นเดียวกับผลประกอบการของบริษัทจะทะเบียนของปี 2019 ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทีได้ทยอยประกาศงบการเงินรวมของทั้งปีออกมาเกือบครบแล้ว โดยรวมมีผลประกอบการที่ดีกว่าที่ตลาดคาดไปพอสมควรทีเดียว

 จัดพอร์ตลงทุนแบบ Don’t Fight The FED

 คำว่า Don’t Fight the FED เป็นวลีคลาสสิคอันหนึ่งสำหรับนักลงทุนสถาบันว่าอย่าลงทุนสวนทางกับทิศทางของธนาคารกลาง เพราะหน้าตักของธนาคารกลางนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก เช่นถ้าธนาคารกลางกำลังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย นักลงทุนก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนพันธบัตรระยะยาว

 ผู้เขียนมีมุมมองต่อการจัดพอร์ต ณ เวลานี้ว่า เมื่อเหล่าแบงค์ชาติกำลังฉีดเงินเข้าระบบต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่มีค่าน้อยที่สุด และไม่ควรมีในพอร์ตมากนักก็คือเจ้า “เงินสดนั่นเอง” เพราะดอกเบี้ยนั้นต่ำ และจะคงต่ำต่อไปอีกนาน คำถามต่อไปคือถ้าไม่ลงเงินสดแล้วไปลงอะไรดี

 พันธบัตร และหุ้นกู้ผมมองว่า ณ ระดับ Yield ตอนนี้ต่ำจนไม่น่าสนใจ แนะนำเป็น Underweight โดยพันธบัตร 10 ปีของไทยให้ผลตอบแทน (Yield) อยู่ที่ 1% ต้น ๆ เท่านั้น ขณะที่ของสหรัฐฯ อยุ่ที่ 1.6% ดังนั้นผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้สำหรับระยะเวลาการลงทุน 1 ปีต่อจากนี้ไม่น่าจะสูงนัก เว้นแต่กรณีที่โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งของสหรัฐฯ และไทยสามารถปรับตัวลงได้อีก

มาที่กองทุนอสังหาฯ (REITs) ผมมองว่า ณ ตอนนี้ Yield ของกองอสังหาฯ ที่ประมาณ 5% จัดว่าน่าสนใจทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1% อย่างไรก็ตามผมคิดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ ไทยจากตรงนี้คงไม่ได้สูงมากเหมือน 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงแนะนำเป็น Neutral Weight คือมีในพอร์ต 10-20% ก็พอแล้ว

ขณะที่หุ้นผมเป็น Overweight โดยเฉพาะหุ้น Asia ex Japan รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และยุโรป ขณะที่หุ้นอเมริกายังชอบแต่ติดตรงระดับ Valuation ที่แพงไปนิด ส่วนหุ้นไทยไม่ชอบจากพื้นฐานเศรษฐกิจ และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดูไม่ดีเลย

สุดท้ายคือทองคำซึ่งจากข้อมูลล่าสุดผมแนะนำให้กลับไป Overweight กันอีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจาก Demand ทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งคือการที่เรา Overweight หุ้นในปลายวัฏจักรขาขึ้นแบบนี้ เราควรมีการลงทุนในทองคำมากระดับหนึ่งเพื่อใช้ในการ hedge หรือลดความเสี่ยงหากตลาดหุ้น หรือเศรษฐกิจผันผวนเอาไว้ด้วย

FundTalk รายงาน