มองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (2)

มองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (2)

ครั้งที่แล้ว ผมกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019 n-cov) ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการชื่อใหม่คือ COVID-19

โดยอธิบายว่าน่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเพราะในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลง (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ไปสู่การพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอย่างมากเกินที่ใครจะคาดเดาได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่ไทยต้องเผชิญกับโรค SARS เมื่อ 17 ปีก่อนหน้าในปี 2003 กล่าวคือ

ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้เป็น growth driver ของประเทศไทยมานานแล้วและภาคเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดคือ การท่องเที่ยว ซึ่งจีนมีส่วนสำคัญในการผลักกันปรากฏการณ์นี้ เพราะในปี 2003 ที่โลกเผชิญโรค SARS นั้นมีนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยเพียง 6 แสนคน แต่ในปี 2019 นั้นจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่รัฐบาลไทยไม่น่าจะได้เคยคาดการณ์หรือวางแผนทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ประเด็นคือในอนาคตนั้นเราจะปล่อยให้เศรษฐกิจไทยเดินไปในทิศทางนี้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะสามารถประเมินตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่า หากยังต้องการอาศัยการท่องเที่ยวเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ประเทศไทยคงจะต้องรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 20-25 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า กล่าวคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านคนในปี 2010 มาเป็น 40 ล้านคนในปี 2019 ดังนั้นหากในอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะยังต้องการพึ่งพาการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยก็คงจะต้องสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกจาก 40 ล้านคนเป็น 60-65 ล้านคนในปี 2029 ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 25% เป็นประมาณ 30-35% (20 ล้านคน) เพราะประเทศจีนจะยังเป็นแหล่งผลิตนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในโลกต่อไปอีก ดังที่เห็นได้จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านคนในปี 2003 มาเป็น 150 ล้านคนในปี 2019 ดังนั้นหากจะมีคนจีนท่องเที่ยวทั่วโลกประมาณ 250-300 ล้านคนในปี 2029 (20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของจีน) การที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละ 20 ล้านคนก็น่าจะเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการต้องรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีก 20-25 ล้านคนจากฐานปัจจุบันที่ 40 ล้านคนนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศเป็นอย่างมากและที่สำคัญคือ หากรองรับจำนวนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ การท่องเที่ยวก็จะไม่ได้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีพลังมากเท่ากับช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เพราะฐานที่โตขึ้นอย่างมาก กล่าวคือในช่วงที่สัดส่วนของกิจกรรมโรงแรมเพิ่มจาก 3.6% ของจีดีพีมาเป็น 6.3% ของจีดีพีในช่วง 2010-2019 นั้น ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านคนเป็น 40 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 166% แต่ในอนาคตหากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านคนเป็น 65 ล้านคนในช่วง 2020-2029 นั้น สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะเท่ากับ 62.5%เท่านั้น

158165517642

ดังนั้นประเทศไทยจึงจะต้องขบคิดดูว่าหากแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ลดลงแล้ว เราจะมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น จะต้องหันกลับไปทำการเกษตร (สมัยใหม่) เพิ่มขึ้นมาทดแทนอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมหรือจะแสวงหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ มาเป็นทางเลือกได้หรือไม่ จะเห็นได้ว่าการตั้งคำถามว่าประเทศไทย (และคนไทย) จะ “หากิน” อย่างไรในอนาคตนั้น เป็นการตั้งคำถามที่ตอบได้ยากและเป็นการตั้งคำถามที่แตกต่างจากแนวทางปัจจุบันคือรัฐบาลทุ่มเทและชี้ชวนให้เอกชนมารีบเร่งลงทุนในอีอีซีโดยมีเมนูให้เลือกมากมาย แต่ผมยังไม่เห็นความชัดเจนว่าทางเลือกที่มีอยู่มากมายนั้น ทางเลือกใดจะเหมาะสมกับศักยภาพของคนไทยหรือของประเทศไทยมากที่สุดและประเทศไทยคงให้ลำดับความสำคัญกับสาขาเศรษฐกิจสาขาใดหรืออุตสาหกรรมประเภทใด การกำหนดลำดับความสำคัญนี้เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าต้องทำเพราะจะเป็นการบังคับให้ต้องประเมินปัจจัยต่างๆและสภาวการณ์อย่างครบถ้วนและถูกต้องจึงจะสามารถนำมาซึ่งข้อสรุปดังกล่าวได้

ตัวอย่างเช่นประเทศไทยอาจประเมินสภาวการณ์และศักยภาพแล้วสรุปว่าต้องยอมให้ภาคอุตสาหกรรม ต้องลดความสำคัญในเศรษฐกิจลงต่อไปอีก โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนอุตสาหกรรมต่อจีดีพีอาจต้องเหลือต่ำกว่า 30% ของจีดีพีและอุตสาหกรรมที่จะต้องลดบาบาทลงมากที่สุดคือชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะจะมีความต้องการชิ้นส่วนเพื่อรถไฟฟ้า(EV) ลดลงมาก อุตสาหกรรมที่ผลิตถุงพลาสติกและสินค้าขั้นพื้นฐานด้านปิโตรเคมีก็จะต้องลดปริมาณลงเช่นกัน นอกจากนั้นประเทศไทยก็กำลังจะขาดแคลนแรงงานอายุน้อยที่เหมาะกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

แต่ภาคเกษตรนั้นอาจมองได้ว่าจะต้องปรับโครงสร้างอย่างเร่งรีบและตั้งเป้าว่าจะต้องมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มจาก 5.7% ในปี 2019 มาเป็น 10% ในปี 2029 โดยการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิต “clean food for the world” ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศไทยและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศได้รวมด้วย แต่จะต้องหมายถึงการลดพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว(เพราะใช้ที่ดินและน้ำจำนวนมาก) และคนก็นิยมกินคาร์โบไฮเดรตลดลงอีกด้วย โดยจะเหลือแต่ข้าวคุณภาพสูงและเลือกการผลิตผักและผลไม้และพัฒนาให้มีมาตรฐานด้านสุขภาพสูงที่สุดในโลก นอกจากนั้นอุตสาหกรรม เช่น อ้อยและน้ำตาลก็จะลดความสำคัญลงเช่นกันเพราะผลกระทบต่อสุขภาพทั้งจากการที่น้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนแลการผลิตก็มีผลกระทบในด้านภาวะสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นก็จะต้องขับเคลื่อนให้พึ่งพา medical tourism และ healthcare tourism มากขึ้น เพราะประชากรโลกก็แก่ตัวลงและสาขาดังกล่าวน่าจะมีมูลค่าเพิ่มและทำกำไรต่อหัวให้กับประเทศไทยได้มากกว่า นอกจากนั้นการพัฒนาให้ไทยเป็นที่พักพิงให้กับผู้เกษียณอายุในลักษณะsemi-retirement home สำหรับผู้สูงอายุที่ร่ำรวยสามารถมาพักผ่อนที่ประเทศไทยนาน 1-2 เดือนต่อปีในช่วงฤดูหนาวของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา ก็อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย หมายความว่าจำนวน “นักท่องเที่ยว” ไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นมากนัก แต่รายได้ต่อหัวจะสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญครับ