'72' มาตรงๆ ไม่อ้อมค้อม

'72' มาตรงๆ ไม่อ้อมค้อม

ไม่ใช่ตั้งใจจะมาใบ้หวยหรือส่งเสริมอบายมุขอะไรกันนะครับ แต่ที่ขึ้นหัวเรื่องเช่นนี้ เพราะมีคนไปพูดกันมาก

กรณี หากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นเรื่อง กู้เงิน ผิดหรือไม่ผิด ซึ่งถือว่าเป็นการ “เบี่ยงเบนประเด็น” ด้วยความเห็นของ กกต. เสียงข้างมากที่วินิจฉัยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่นั้น มองไปที่ฐานความผิดตามมาตรา 72 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ไม่ต้องไปสนใจว่า “พรรคการเงินกู้เงินแล้วมันผิดตรงไหน หรือไม่ผิดเลยหรืออย่างไร” การนำประเด็น “การกู้เงิน” มาถกเถียงเป็นการทำให้หลงประเด็น เพราะเนื้อหาตามมาตรา 72 เขียนไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำสำคัญอยู่ตรงคำว่า “ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย” การกู้เงินหากนำมาเพื่อใช้สอยหรือเพื่อกิจกรรมอันใช้ไปเพื่อการดำเนินกิจการตามปกติตามครรลองที่กระทำกันโดยทั่วๆ ไป จะกู้มา หรือได้มาด้วยวิธีที่ไม่ผิดกฎหมายย่อมชอบด้วยกฎหมาย แต่หากการได้มานั้น “มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เช่น การมาโดยบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมสั่งการในองค์กรหรือพรรคการเมือง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเราถือหลักความเสมอภาค หนึ่งคนหนึ่งเสียง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร หรือครอบงำใครได้ แต่เมื่อการกระทำใดส่อไปในทางที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่า อาจจะนำไปสู่การครอบงำหรือมีอำนาจเหนือการบริหารจัดการพรรคการเมืองได้ ย่อมตีความได้ว่าอาจจะเป็น “แหล่งที่มาซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นี่คือเหตุผลที่มีคนตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานา ทั้งการโจมตีว่า การแถลงของ กกต มีกระดาษแผ่นเดียวไม่มีการอธิบายเหตุผลที่มาที่ไป บ้างก็ว่า มีเอกสาร “รั่วไหล” ชัดเจนว่ามีการคัดค้านโดยอนุกรรมการไม่เห็นชอบ แต่ กกต ทำไมจึงเห็นชอบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งหลายทั้งปวง เรื่องที่พูดหรือถกเถียงกันนี้ เป็นความพยายามดิ้นรนหาทางออกของใครก็ตามที่ต้องการหลุดพ้นจากพันธนาการของข้อกล่าวหา ซี่งเป็นวิสัยปกติของฝ่ายใดก็ตามที่ถูกกล่าวหา ย่อมต้องแสวงหาทางออกในการแก้ข้อกล่าวหาของตน ซึ่งเป็นเรื่องทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ใช้กันเป็นปกติโดยทั่วไป

แม้ว่า กรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการไต่สวนตามพยานหลักฐานและการแสวงหาข้อเท็จจริงตามขอบอำนาจของศาลที่กำหนดไว้ใน พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีการยกร่างขึ้นเป็นครั้งแรกแต่การหยิบยกประเด็นใดมากล่าวอ้างของคู่กรณีเป็นสิ่งที่ศาลฯ ได้ให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ และเป็นสิทธิขาดรวมทั้งเป็นอำนาจโดยชอบของศาลเช่นกันที่จะเลือกรับฟังหรือไม่รับฟังพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดได้ทั้งสิ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นกรณีที่ไม่มีอะไรน่าสงสัยเลย หากศาลฯ เมื่อรับคำร้องของ กกต ซึ่งเปรียบไปแล้ว เสมือน “พนักงานอัยการ” ในคดีอาญา ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบสำนวนก่อนยื่นฟ้องต่อศาล ที่เมื่อศาลมีข้อยุติในการรับคำร้องมาแล้ว ย่อมเชื่อได้ว่า ศาลฯ ได้มีการใช้ดุลยพินิจและเห็นว่า “คำร้อง” นั้น ดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่า กรณีหาก “ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารรั่ว” นั้นเป็นความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นปรากฎการณ์อันจะเกิดขึ้นได้เสมอในกระบวนการยุติธรรมทั่วไป เช่น เมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนขึ้นมาจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อถึงชั้นผู้บังคับบัญชาอาจมีความเห็นต่างได้

ทั้งนี้ เพราะเราถือหลัก “ความรับผิดชอบร่วมกัน (common responsibility)“กล่าวง่ายๆ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน คือ “ผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงตรายาง” ที่รับสำนวนประกอบคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงาน คณะอนุกรรมการหรือหน่วยงานใดที่ส่งเรื่องขึ้นมา แล้วต้องเห็นชอบตามนั้น เพราะหากมีการกล่าวหาว่า ไม่รอบคอบ ละเว้นปฎิบัติหน้าที่ หรือดำเนินการเกินขอบอำนาจ ทุกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาจะต้องเผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกัน ทำให้ไม่เห็นเป็นเรื่องประหลาดใจประการใดที่ คณะกรรมการ กกต จะมีความเห็นต่างจากคณะอนุกรรมการที่มีการกลั่นกรองเรื่องขึ้นมา

จึงอยากให้สาธารณชนทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เวลานี้ เราไม่ได้สนใจเรื่อง “กู้เงิน” ว่าผิดหรือไม่ผิดเป็นสำคัญแต่เราให้ความสำคัญกับ “แหล่งที่มาของรายได้นั้น” ว่ามีที่มาจากแหล่งที่พึงนำมาใช้จ่าย หรือพึงเป็นแหล่งรายได้ที่สมควรหรือไม่ เมื่อให้ความเห็นชัดเจนเพียงนี้แล้ว หลายท่านอาจคาดเดาไปถึงผลของคำวินิจฉัยซึ่งผมไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ต้องการทำความจริงให้ปรากฎและไม่อยากให้สาธารณชน หลงเชื่อไปตามทัศนะหรือกระแสความที่บิดเบือนเพื่อวัตถุประสงค์ประการใดไม่อาจทราบได้