ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตื่นเต้นหน่อย เรียกได้ว่าเป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรกในรอบหลายปี

ดิฉันได้รับติดต่อจาก CEO บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง ให้เข้าไปคุยโครงการที่ปรึกษา คุยกันไปคุยกันมาถูกคอ ท่านเลยชวนให้มาทำงานประจำด้วยกันเลย ท่านบอกว่าอยากให้เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กร ท่านอ่านหนังสือมาเยอะและเชื่อว่าหากอยากสำเร็จเหมือนเดิม จะทำเหมือนเดิมไม่ได้ จึงต้องการลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนองค์กร อยากเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ เปลี่ยนแบรนด์ใหม่ รวมไปถึงเปลี่ยน mindset พฤติกรรมคนในองค์กรใหม่

ดิฉันจึงถามท่านว่า แล้วทำไมท่านไม่ทำเองล่ะคะ?

ท่านตอบว่าอยากได้คนนอกมาเปลี่ยนแปลง น่าจะทำได้ง่ายและดีกว่าเพราะไม่เคยมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาก่อน

Zenger & Folkman สถาบันวิจัยด้านภาวะผู้นำ ศึกษาพฤติกรรมของผู้นำองค์กรทั่วโลกกว่าแสนคน พบ 1 ใน 16 ทักษะที่ผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จมี คือ การนำการเปลี่ยนแปลง (Change Champion) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การนำเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ไม่ใช่การลุกขึ้นมาเปลี่ยนทุกอย่าง!

การนำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงคือ

1. รู้ว่าจุดไหนควรเปลี่ยน จุดไหนควรคงไว้เหมือนเดิม และหากจะเปลี่ยนควรต้องเปลี่ยนเมื่อไหร่

2. การหาคนมานำการเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ใช่การมอบหมายให้ทำโครงการ แต่ต้องหาคนที่มีแรงบันดาลใจมองเห็นความจำเป็นอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนเพื่ออนาคตส่วนรวมที่ดีกว่า

3. รู้จิตวิทยาในการทำให้คนเชื่อ เห็นตาม และอยากเปลี่ยนแปลงตาม

นอกจากนี้ Zenger & Folkman ยังพบจุดตาย 5 จุด ที่ทำให้ผู้นำล้มเหลว ซึ่งว่ากันจริง ๆ แล้วผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องทั้งนำตนเอง (Lead Self) นำคน (Lead Others) และนำการเปลี่ยนแปลง (Lead Change & Transformation) ได้ แต่จุดที่ทำให้ผู้นำล้มเหลวลำดับต้น ๆ กลับเป็นไม่ใช่เรื่องความสามารถในการการเปลี่ยนแปลง แต่คือความสามารถใน “การนำคน” ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นจูงใจ (Inspires and Motivates Others) คือการสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานเต็มศักยภาพ ทำงานด้วยพลังไปสู่ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม

2. การพัฒนาตนเอง (Practices Self-Development) คือความพยายามถามหาคำแนะนำจากผู้อื่นเพื่อนำไปพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างบรรยากาศการทำงานที่เน้นการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ

3. การประสานความร่วมมือและทำงานเป็นทีม (Collaboration and Teamwork) คือการส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือทั่วทั้งองค์กรเพื่อเป้าหมายร่วมกัน และสามารถกำจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

4. การพัฒนาคนอื่น (Develops Others) คือความห่วงใยใส่ใจต่อการเติบโตของผู้อื่น พร้อมให้คำแนะนำอย่างจริงใจเพื่อการพัฒนารวมถึงทำหน้าที่เป็นโค้ชและพี่เลี้ยง

5. การสื่อสารอย่างทรงพลัง (Communicates Powerfully and Prolifically) คือความสามารถทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป้าหมายขององค์กรคืออะไรและพวกเขาสำคัญต่อเป้าหมายนั้นอย่างไร

ดังนั้นการนำเปลี่ยนแปลง คงไม่ใช่การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ตั้งแต่เปลี่ยนวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ปรับโครงสร้างองค์กร แต่น้ำหนักสำคัญอยู่ที่ความสามารถใน “การนำ” คนให้อยาก “เปลี่ยนแปลง” ตามไปด้วย