เตือนภัย! 'ไข้หวัดหมู' กำลังแรง.. ไต้หวันตายแล้ว 56 ราย

เตือนภัย! 'ไข้หวัดหมู' กำลังแรง.. ไต้หวันตายแล้ว 56 ราย

น่าตกใจเหมือนกัน เมื่อศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวัน (ซีดีซี) เปิดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัส H1N1 "ไข้หวัดหมู" จำนวน 56 ราย ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

แค่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดหมูจำนวน 13 ราย แม้ว่า ซีดีซี จะไม่ยืนยันตัวเลขดังกล่าว แต่เผยว่า เชื้อไวรัส H1N1 มีการแพร่ระบาดในไต้หวันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อ 771 ราย ซึ่งมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีจำนวน 41% ที่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขณะที่ 32% มีอายุ 50-64 ปี

ทั้งนี้ ระบาดของ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ (H1N1) หรือ ไข้หวัดสุกร ในปี 2552 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดในเมรารูซ ประเทศเม็กซิโก พบผู้ติดเชื้อกว่า 130 ประเทศ ระบาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อินเดีย และจีน มีผู้ติดเชื้อหลายล้านราย เสียชีวิต 1.5-5.7 แสนราย

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว (พ.ค.2562) ไทยเกิดไข้หวัดใหญ่ระบาด 4 เดือนป่วย 1.5 แสนคน เสียชีวิต 10 คน ต่อมา (ส.ค. 2562) นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ แนะนำว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A H1N1 เป็นโรคติดต่อระหว่างคนสู่คน อาการจะคล้ายกับการเป็นไข้หวัดทั่วไป แต่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 จะมีความรุนแรงมากกว่า

โดยสังเกตอาการได้ดังนี้ มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ปอดบวม เบื่ออาหาร ในบางรายมีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน สามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย การไอหรือจาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่ตั้งครรภ์ เมื่อได้รับเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน เช่น ปอดที่ติดเชื้อไวรัสอยู่แล้วอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายได้ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกัน และหากติดเชื้อควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยาภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

ส่วนนายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี อธิบายวิธีป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A H1N1 คือ พยายามอย่าเข้าใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร กินอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่ๆ มีผู้คนจำนวนมาก หรือเป็นช่วงการระบาดของโรค การฉีดวัคซีนก็เป็นวิธีป้องกันได้ดี แต่ในกรณีนี้แพทย์จะเน้นกลุ่มเสี่ยงในการเข้ารับวัคซีน เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า

....

ข้อมูลจาก si.mahidol.ac.th ระบุว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก ไม่เป็นที่ปรากฏว่าเชื้อนี้ได้เริ่มติดในคนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด แต่เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นแล้ว พบว่าเป็นการแพร่กระจายและติดต่อจากคนสู่คน เชื้อนี้มิได้พบในหมูทั่วไป จึงไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือกินเนื้อหมู ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสชนิดใหม่นี้อาจมีอาการน้อยมากจึงถึงรุนแรงมาก ๆ และปอดบวม ซึ่งก็เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่มีระบาดอยู่เป็นประจำ

การแพร่เชื้อ...
เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ไปยังผู้อื่นโดยการ ไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก ขยี้ตา ที่สำคัญ ผู้ที่มีอาการรุนแรงและถึงแก่กรรมมักจะอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี
*เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไม่ติดต่อจากการสัมผัสหมูหรือรับประทานเนื้อหมูแน่นอน


อาการที่น่าสงสัย....
- ระบบทางเดินหายใจมีความผิดปกติ อาทิ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ
- ไข้ขึ้นสูง ประมาณ 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านี้
- อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย
* ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ โรคเรื้อรังต่าง ๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม หัวใจวาย และเสียชีวิตได้

โรคนี้รักษาได้ไหม?
ยาต้านไวรัสไขหวัดใหญ่มีอยู่ไม่กี่ชนิดนัก ยาชื่อ “โอเซลตามิเวียร์” สามารถรักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่นี้ได้ แต่ควรใช้เท่าที่จำเป็นและภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะหากใช้พร่ำเพรื่อเชื้ออาจดื้อยาได้ ส่วนวัคซีนป้องกันยังอยู่ในขั้นตอนการค้นคว้าวิจัย และอาจจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จึงจะไปถึงขั้นที่จะสามารถนำมาใช้สำหรัประชาชน และในประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรค

*ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง วัคซีนนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือมีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคปอด และโรคหัวใจ วัคซีนที่มีประจำฤดูกาลนี้ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่อาจช่วยลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งยังต้องการการศึกษาวิจัยต่อไป

ป้องกันอย่างไร?
หากท่านป่วยด้วยอาการไข้ เจ็บคอ ไอ และได้เดินทางไปในสถานที่ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้มาไม่นานเกิน 7 วัน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน และหากมีภาวะความเสี่ยงของการระบาดเกิดขึ้น ควรปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อ ดังนี้
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง
- ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ใน ที่สาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่กำลังป่วยหรือเป็นหวัด
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝูงชนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า
- หากป่วยควรเก็บตัวอยู่บ้าน และใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนในบ้าน
- ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งขยะทันที หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าซึ่งจะใช้ซ้ำได้ 2-3 ครั้ง โดยกลับด้านสะอาดขึ้นมาใหม่ (ในกรณีที่ไม่มีกระดาษทิชชู่ ควรปิดปากและจมูกด้วยต้นแขนเสื้อ) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับมือหรือแพร่กระจายในอากาศ
- ไม่ควรกินยาแอสไพรินเองก่อนปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด
....

รู้อย่างนี้แล้ว ต้องระมัดระวัง และติดตามข่าวสารใกล้ชิด ปีนี้โรคภัยมาจริงๆ.. ไข้หวัดหมูไม่ใช่เรื่องหมูๆ!!