ผู้นำ คือ ผู้นำของ ‘คน’

ผู้นำ คือ ผู้นำของ ‘คน’

ประเด็นเล็กๆ แต่สำคัญเรื่องหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามเกี่ยวกับผู้นำ (ไม่ว่าจะในระดับใด) นั่นคือผู้นำนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้หมายถึงผู้นำขององค์กร

แต่จริงๆ แล้วควรจะต้องเป็นผู้นำของ “คน” ในองค์กร ผู้นำควรจะมีบทบาทหน้าที่หลักที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นจูงใจผลักดันและชี้นำ “คน” ในองค์กรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน  แต่ปัญหาสำคัญ 2 ประการที่มักจะพบ คือ การเลือกผู้นำขึ้นมานั้นมักจะดูจากความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือความสำเร็จในอดีต แต่ไม่ได้พิจารณาจากทักษะที่เกี่ยวข้องกับคนอีกประการหนึ่งคือ เมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำแล้วหลายๆ คนก็มักจะลืม หรือละเลยเกี่ยวกับคนในองค์กรไปเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตตา (หรือความถือว่าตนเองสำคัญ)นั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

มาที่ปัญหาประการแรกคือ การได้มาซึ่งผู้นำส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเลือกหรือแต่งตั้งผู้นำโดยดูจากความสำเร็จในอดีต และมีความเชื่อว่าทักษะความรู้ ความสามารถที่นำไปสู่ความสำเร็จในอดีตนั้นจะทำให้บุคคลผู้นั้นประสบความสำเร็จต่อเนื่องในฐานะผู้นำต่อไปในอนาคต (ถึงแม้บทบาทความรับผิดชอบจะเปลี่ยนไป)

อีกทั้งเรามักจะตกลงไปในกับดักว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพจะประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำด้วย ต้องอย่าลืมว่าการจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพได้นั้นบุคคลจะต้องมีความรู้ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งการมีความรู้และทักษะเหล่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถชี้นำกระตุ้น จูงใจ ผลักดันให้คนจำนวนมาก ยอมละทิ้งเป้าหมายส่วนตัวเพื่อร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมายส่วนรวมขององค์กรได้

มีบทความหนึ่งใน HBR.org ที่ระบุไว้เลยว่า ผู้นำที่ดีจำเป็นจะต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับหนึ่งเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของตนเองขึ้นมา แต่ความเชี่ยวชาญที่มากเกินไปกลับกลายเป็นผลเสียได้เนื่องจากจะทำให้มีมุมมองที่ไม่กว้าง อีกทั้งยังชอบมุ่งเน้นไปยังเรื่องที่ตนเองเชี่ยวชาญชำนาญอันเนื่องมาจากประสบการณ์ในอดีต แต่ผู้นำที่ดีนั้นจะต้องเปิดรับและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ผู้นำจะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ปัญหาประการที่ 2 คือ เมื่อก้าวขึ้นสู่จุดสูงขององค์กรแล้วผู้นำ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) มักจะมีอัตตา(ความถือว่าตนเองเป็นสำคัญ)เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงเท่าใด อัตตาก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเมื่อกลายเป็นผู้นำคนรอบข้างก็จะเกรงใจมากขึ้นรับฟังมากขึ้น เห็นด้วยมากขึ้น โต้แย้งน้อยลง รวมถึงหัวเราะให้กับมุกแป้กๆ ของผู้นำมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมของคนรอบข้างนี้ล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตตาทั้งสิ้น

นอกจากนี้การเป็นผู้นำก็มักจะนำไปสู่อภิสิทธิ์บางอย่างที่คนธรรมดาไม่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นลิฟท์ส่วนตัว ที่จอดรถส่วนตัวห้องทำงานที่วิวสวย แต่ห่างไกลจากผู้อื่นซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มอัตตาของผู้นำ (โดยไม่รู้ตัว) ทั้งสิ้นและเมื่อผู้นำเริ่มมีอัตตาที่ใหญ่ขึ้นก็มักจะต้องการแสวงหาอำนาจเพิ่มขึ้นซึ่งก็ยิ่งไปตอกย้ำให้อัตตาใหญ่ขึ้น

หลายคนที่ก่อนได้ขึ้นเป็นผู้นำสามารถนั่งทานข้าวที่โรงอาหารกับเพื่อนร่วมงานขึ้นลงสำนักงานด้วยลิฟท์ตัวเดียวร่วมกับพนักงานอื่นๆ แต่เมื่อก้าวเป็นผู้นำแล้วสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับในฐานะผู้นำกลับทำให้บุคคลเหล่านี้ห่างไกลจากพนักงานหรือเพื่อนร่วมงานอื่นๆ มากขึ้นสำหรับผู้นำบางท่านแล้ว วันๆ นอกจากพบเจอผู้บริหารหรือเพื่อนพนักงานในห้องประชุมแล้วก็เรียกได้ว่า แทบไม่มีโอกาสได้พบเจอบุคคลอื่นๆ ขององค์กรเลย

งานสำคัญของผู้นำคือการบริหารคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นบริหารทีมผู้บริหารด้วยกัน หรือบริหารพนักงานในองค์กร แต่ถ้าผู้นำเหล่านี้มีอัตตาที่ใหญ่จนบดบังทำให้ไม่สามารถได้ยินได้ฟังได้เห็นเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ แล้วผู้นำก็จะเป็นเพียงแค่ผู้นำองค์กรแต่ไม่ได้เป็นผู้นำของ คนในองค์กรที่แท้จริง