นวัตกรรมช่วงชิงธงนำในตลาดยุคใหม่

นวัตกรรมช่วงชิงธงนำในตลาดยุคใหม่

อดีตพนักงานขายต้องมีคุณสมบัติขับรถยนต์ได้ ต้องมีใบขับขี่ ทำงานโดยลำพังเป็นหลัก พร้อมเดินทางไปในทุกที่ นำเสนอสินค้าได้สั้นกระชับได้ใจความ

ที่สำคัญตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า จากนั้นค่อยส่งคำสั่งซื้อกลับมาที่บริษัท แต่ปัจจุบันพนักงานขายต้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์พกพา แต่ยังหมายรวมถึงสมาร์ทโฟน (Smartphone) แท็บเล็ต (Tablet) อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearable devices) ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา เรียกว่าอยู่ที่ไหนพร้อมทำงาน มีไฟล์ข้อมูลเก็บไว้ในคราวด์พร้อมนำเสนอได้ในทุกรูปแบบ และสามารถส่งคำสั่งซื้อจากลูกค้ากลับมาได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอรอบเดินทางกลับมาที่สำนักงาน นี่คือมิติใหม่ของคนทำงานในยุค 4.0

เมื่อ “ลอกเลียน” หมายถึงการทำตาม ทำให้คล้าย ทำให้เหมือน โดยคาดหวังผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกับผู้นำตลาด ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดของการทำงานในอดีต ในยุคที่ดีมานด์ความต้องการของลูกค้าและตลาดมีจำนวนมาก แต่ซัพพลายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ให้บริการยังมีจำกัด แต่ยุคใหม่ในอนาคตดีมานด์ความต้องการของตลาดแตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆที่เล็กมากๆ แต่ละกลุ่มแต่ละคนมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน แม้ว่าโครงสร้างอาจมาจากพื้นฐานเดียวกันถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่สิ่งที่ผู้ผลิตและผู้ให้บริการต้องทำคือการเสริมเพิ่มเติมแนวคิดใหม่ๆที่แตกต่างหลากหลายและสอดรับกับความต้องการของแต่ละกลุ่มแต่ละรายที่เหลืออีก 20-30 เปอร์เซ็นต์

เป็นที่มาว่าคนทำงานในยุคนี้สมัยหน้าจะไม่สามารถใช้การลอกเลียนผู้นำได้อีกต่อไป หากแต่ต้องสร้างจุดเด่นเน้นจุดขายให้กับสินค้าและบริการของตัวเอง โดยการใช้แนวคิด “ลอกเรียน” ซึ่งมาจากการผสมผสานการทำงานสองอย่างเข้าด้วยกันคือ ลอกแบบและเรียนรู้ โดยดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และทิศทางการตอบรับของลูกค้าและตลาด จากนั้นหันกลับมาดูผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการหลักว่าทำอะไรได้ดีและยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันค้นหาข้อบกพร่องสิ่งที่องค์กรเหล่านั้นมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญ สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เรียนรู้ที่จะคิดค้นสิ่งนั้น ปรับเปลี่ยน ดัดแปลง เติมเต็ม และชูจุดนั้นให้กลายเป็นจุดขายให้ได้ในที่สุด

ในงานด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ในยุคนี้ แน่นอนผู้นำตลาด (Leader) ผู้ชี้นำทางความคิด ผู้ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือผู้ที่กุมชะตาหรือทิศทางของอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วยแนวคิดทางธุรกิจขององค์กรนวัตกรรมที่ว่า “ฉันจะทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ แต่ตลาดต้องการ และสอดรับกับกระแสโลก” ใครก็ตามที่มีความคิดนี้สามารถปฎิวัติวงการอุตสาหกรรมเดิมไปสู่โครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้ทันที ในอดีตเราเห็นมาแล้วที่องค์กรหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมอื่น แต่สามารถแตกธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ธุรกิจใหม่และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบพลิกฝ่ามือ อาทิ ไอโฟนจากค่ายแอปเปิล ที่ล้มแชมป์โทรศัพท์ที่เน้นการสื่อสารผ่านเสียงพูด (Standard phone) อย่างโนเกีย ด้วยการนิยามใหม่ว่าอุปกรณ์พกพานี้จะทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์ที่สื่อสารกันด้วยข้อมูลจนเป็นที่มาของ Smart phone ในปัจจุบัน

สิ่งที่บริษัทอื่นจะดำเนินรอยตามผู้นำเพื่อที่จะช่วงชิงตำแหน่งองค์กรในลำดับสองหรือลำดับสาม ก็คือการสร้างจุดขายใหม่ที่แตกต่างไปจากเจ้าตลาดหรือผู้นำตลาดเดิม และกลายเป็นองค์กรที่เข้ามาท้าทาย (Challenger) หรือสั่นคลอนตำแหน่งที่ยืนของผู้นำแบบให้ต้องพะวงอยู่ตลอดเวลา เพราะองค์กรเบอร์รองนี้คอยหายใจรดต้นคอเบอร์หนึ่งอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันสมาร์ทโฟนบนระบบปฎิบัติการ iOS ไม่ได้ผูกขาดการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอีกต่อไป หากพิจารณากันจริงๆจะพบว่าหลากหลายค่ายสมาร์ทโฟนในฝั่ง Android กลับมีนวัตกรรมใหม่ๆที่หลากหลายเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งในราคาที่ย่อมเยากว่าค่ายแอปเปิลอย่างมาก จนอาจบอกได้ว่าผู้ใช้ที่ยอมจ่ายแพงให้กับไอโฟน เพื่อที่จะได้ใช้ iOS ที่ได้ชื่อว่ามีความเสถียร ปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากกว่า ในขณะที่ใครอยากได้อะไรล้ำๆในราคาที่ถูกลงมาต้องเลือกฝั่ง Android

เบอร์สองจากค่ายกิมจิของเกาหลีอย่างซัมซุง ทำได้สำเร็จมาแล้วในอดีตคือการกวดไล่ตามไอโฟน นอกจากจะออกผลิตภัณฑ์มากมายหลายรุ่น กวาดตลาดทั้งกลางและล่างจนสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในด้านส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมมาแล้ว สิ่งที่ซัมซุงสร้างความโดดเด่นในตลาดบนคือ สมาร์ทโฟนที่มีปากกามาพร้อมกับซอฟท์แวร์การใช้งานเฉพาะที่หาไม่ได้ในแบรนด์อื่น รวมถึงแบรนด์ชั้นนำอย่างไอโฟนที่ปฎิเสธการใช้ปากกาในสมาร์ทโฟนมาโดยตลอด การฉีกกฎของการถ่ายภาพที่เทียบเท่ากับกล้องถ่ายรูปจริงๆของหัวเหว่ยด้วยเลนส์คุณภาพสูงและซอฟท์แวร์จัดการภาพที่เหนือกว่า จนเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นคาเมร่าโฟนที่สุดยอดของการถ่ายภาพนิ่ง ไม่ว่าจะถ่ายระยะใกล้ ระยะกลาง หรือระยะไกล

อีกตัวอย่างหนึ่งคือแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักอันหนึ่งในระบบธุรกิจ เพราะการคมนาคมขนส่งไม่ว่าจะขนคนหรือขนสินค้า ยานพาหนะทุกชนิดไม่ว่าจะทางราง ทางถนน ทางน้ำ หรือแม้เต่ทางอากาศ ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำมันทั้งสิ้น แต่แน่นอนไม่มีใครยอมจำนนต่อสภาพการแข่งขันที่บีบรัดตัว การหนีตายและผ่อนคลายภาระด้วยการแห่ไปใช้แก๊สแทนน้ำมันคือหนังตัวอย่างในยุคที่เทคโนโลยีใหม่ยังไม่พร้อม และค่ายเดิมยังไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อ Tesla เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบกลับประสบความสำเร็จและกลายเป็นผู้นำในตลาดใหม่ เมื่อไฟฟ้ากลายเป็นพลังงานทางเลือกหลักของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electrical Vehicle – EV) คือคำตอบสูดท้ายของการเดินทางในยุคหน้า จึงไม่แปลกที่ล่าสุดเราจะเห็น Sony ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์จากแดนปลาดิบญี่ปุ่น จะเปิดตัวด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่ผสมผสานและนำเอาเทคโนโลยีที่โซนี่มีความถนัดบรรจุเข้าไปในรถยนต์ต้นแบบมากมายหลายอย่าง การดำเนินธุรกิจในยุคนี้จำเป็นต้องใช้แนวคิดใหม่และเทคโนโลยีทันสมัย เป็นคำตอบสุดท้าย