มองวาระครบรอบ 50 ปีของเวทีเศรษฐกิจโลก

มองวาระครบรอบ 50 ปีของเวทีเศรษฐกิจโลก

บทความนี้เขียนเมื่อวันอังคารอันเป็นวันแรกของการประชุมประจำปี 4 วันขององค์กรเอกชนชื่อ World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

การประชุมนี้เป็นเวทีของชนชั้นผู้นำจำนวน 3,000 คนจากภาคเอกชนและภาครัฐทั่วโลก เนื่องจากปีนี้ครบรอบ 50 ปีของการประชุม วาระจึงครอบคลุมมาก จากการทบทวนประเด็นที่เคยพูดกันแล้วถึงประเด็นร้อนในปัจจุบันโดยแยกออกเป็น 6 ด้าน

ด้านระบบนิเวศ เป้าหมายได้แก่การหาทางระดมกำลังทางภาคธุรกิจให้ตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามาตรการปกป้องระบบนิเวศจะกระจายไปทั่วถึงทุกส่วนของโลก ด้านเศรษฐกิจ เน้นการลดภาระหนี้สินและการขยายตัวที่มีผลอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

ด้านเทคโนโลยี มุ่งไปที่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมรุ่น 4 พร้อมกับการหลีกเลี่ยงสงครามเทคโนโลยี ด้านสังคม เป้าหมายได้แก่การเพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะของบุคลากรในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ด้านภูมิการเมือง หาทางสร้างสะพานเชื่อมต่อให้คู่พิพาทในส่วนต่างๆ ของโลกพบกันแบบไม่เป็นทางการเพื่อนำไปสู่การประนีประนอม ด้านการอุตสาหกรรม มุ่งไปที่การสร้างต้นแบบของอุตสาหกรรมในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและความคาดหวังที่สูงขึ้นของทุกฝ่ายในสังคม

เนื่องจากแต่ละด้านมีประเด็นสำคัญมากมาย จึงเกิดคำถามว่าเมื่อจบการประชุมในวันนี้ จะมีข้อผูกพันอะไรที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมนำกลับไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มี อาจถูกโจมตีซ้ำอีกว่าเป็นสถานที่สุมหัวกันของชนชั้นผู้นำและมหาเศรษฐีในสภาพแวดล้อมที่หรูหราเพียงเพื่อให้พวกเขาแสดงวาทกรรมซึ่งไร้ความหมาย ซ้ำร้ายยังเป็นการผลาญงบประมาณของประเทศยากจนเพื่อส่งข้าราชการและคนในรัฐบาลให้ไปเที่ยวอีกด้วย

ในระหว่างการเขียนต้นฉบับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งกล่าวสุนทรพจน์เสร็จ ตามธรรมดาเขาไม่ให้ความสำคัญแก่การประชุมนี้ การที่เขาไปร่วมจึงถูกวิจารณ์ว่าเขาหาเหตุออกจากกรุงวอชิงตันท่ามกลางความอึมครึมทางการเมืองอันเนื่องมาจากเขาถูกสภาผู้แทนราษฎรฟ้องให้ปลดจากตำแหน่งและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ส่วนเขาจะอยู่ร่วมเวทีต่อไปหรือไม่ยังไม่มีการยืนยัน

ในระหว่างที่นายทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ นักเคลื่อนไหววัยรุ่น เกรตา ธุนเบอร์ก ร่วมฟังด้วย นายทรัมป์โจมตีนักเคลื่อนไหวด้านความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างเผ็ดร้อนว่ามองโลกในแง่ร้าย ส่วนเขามองโลกในแง่ดี

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเกรตาออกเคลื่อนไหวมาหลายปีเพื่อให้ชาวโลกตระหนักถึงปัญหาที่มาจากภาวะโลกร้อนและเพื่อให้ชนชั้นนำเร่งทำสิ่งที่จะป้องกันมิให้ปัญหาสาหัสยิ่งขึ้น ส่วนนายทรัมป์ยึดจุดยืนตรงข้ามโดยมองว่าปัญหาไม่หนักหนาสาหัส ในช่วงเวลา 3 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลอเมริกันจึงลดความเข้มข้นในด้านการควบคุมการทำลายระบบนิเวศ

ด้วยเหตุนี้จึงคาดได้ว่าทั้ง 2 จะไม่มีโอกาสร่วมเวทีกัน นอกจากนั้นข้อตกลงอะไรก็ตาม หากรัฐบาลอเมริกันไม่สนับสนุนเต็มที่ ผลดีจะมีเพียงจำกัดเพราะสหรัฐปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น ประเทศจำนวนมากมักยึดจุดยืนตามสหรัฐ

มองในแง่ดี ผู้จัดการประชุมครั้งนี้ทำตนเป็นต้นแบบในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการหลากหลาย เช่น เน้นอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น ลดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ลดการใช้วัสดุจำพวกใช้ได้เพียงครั้งเดียวและใช้ไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ของบิล เกตส์ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการประชุมนี้มานานได้แถลงเป้าหมายในด้านภาวะโลกร้อนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภายใน 10 ปีบริษัทจะดูดซับก๊าซเรือนกระจกมากว่าปล่อยออกไปและในอีก 30 ปีบริษัทจะดูดซับก๊าซนี้ที่ตนเคยปล่อยออกไปในอดีตทั้งหมดกลับคืน

มีผู้วิจารณ์ว่าไมโครซอฟท์ไม่น่าทำได้ ส่วนผมมองว่าแม้จะไม่บรรลุเป้าหมายแบบสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ไมโครซอฟท์กำลังทำตนให้เป็นต้นแบบที่ดี การกระทำเช่นนี้ยอมดีกว่าของบริษัทขนาดยักษ์จำนวนมากที่ยึดจุดยืนเช่นเดียวกับนายทรัมป์ จึงยังมุ่งทำลายภูมิอากาศต่อไปแบบไร้จิตสำนึก บริษัทเหล่านี้ควรถูกประณามอย่างทั่วถึง