500 ปี Da Vinci หัวใจนักปราชญ์

500 ปี Da Vinci   หัวใจนักปราชญ์

500 ปีมาแล้ว หลังการจากไปของอัจฉริยะชื่อก้องโลกชาวอิตาเลียน ในยุคฟื้นฟูของยุโรป (Renaissance) Leonardo da Vinci

 เรามาร่วมรำลึกถึงผลงาน และ สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากวิถีของดาวินชีครับ

อัจฉริยภาพและผลงาน

เรามักรู้จักดาวินชีในฐานะ จิตรกรเอก จากผลงานภาพหญิงสาวในรอยยิ้มลึกลับ ที่โด่งดังที่สุดในโลก “Mona Lisa” และภาพกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู “The Last Supper” ที่เป็นแรงบันดาลใจ ในนิยายขายดี รหัสลับดาวินชี จนกลายมาเป็นภาพยนตร์ดังด้วย

ในยุคสมัยของดาวินชี ยังไม่มีการเรียนรู้กายวิภาคอย่างเป็นระบบ ดาวินชีเป็นคนแรกที่ศึกษาวัดสัดส่วนจากคนจริงและศพไร้ญาติ ในช่วงเวลาที่คนจำนวนมากยังรับไม่ได้ มองว่าเป็นการกระทำของซาตาน รวมทั้งยังศึกษาเพื่อเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับสัตว์ด้วย

ผลงานในด้านนี้ที่สร้างชื่อมาก และคุ้นตามาจนปัจจุบัน คือภาพ วิทรูเวียนแมน ชายยืนกางแขนกางขา เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีว่า รูปร่างของมนุษย์สามารถบรรจุลงไปใน สี่เหลี่ยมจัตุรัส และด้วยจุดศูนย์กลางที่สะดือ สามารถวาด วงกลม ล้อมรอบแขนขาได้พอดีด้วย

ด้วยความรู้ด้านสรีระของมนุษย์เป็นอย่างดี ทำให้ภาพวาดที่ออกมา มีความสมจริงอย่างมาก เช่น ภาพทารกก่อนหน้านั้น มักดูไม่สมส่วนเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก คือ ขายาว หัวเล็ก ลำตัวสั้นกว่าทารกจริง ภาพของดาวินชีดูเหมือนทารกจริงมาก

นอกเหนือจากจิตรกรแล้ว ดาวินชียังมีความสามารถเป็นเลิศในหลายด้าน เป็น นักวิทยาศาสตร์ นักชลประทาน นักพฤกษศาสตร์ นักดนตรี นักกายวิภาค นักดาราศาสตร์ วิศวกร นักประดิษฐ์อาวุธ เป็นต้น

ความสามารถในการวาดภาพมีประโยชน์อย่างมาก ในการบันทึกความคิดและผลงาน ที่มีภาพประกอบวาดไว้อย่างละเอียด เช่น การจำแนกพันธุ์พืชต่างๆ และ การออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่ล้ำยุค อาทิ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องร่อน เครื่องทอผ้า เครื่องจักรที่ใช้ลูกปืนหล่อลื่น (Bearing) เครื่องเจาะ เครื่องเชื่อมโลหะ

ด้วยการสังเกตอย่างจริงจังผสมผสานกับจินตนาการ ทำให้แสงสลัวบนดวงจันทร์ในส่วนที่มืด ได้รับการอธิบายเป็นครั้งแรกว่า เกิดจากแสงที่สะท้อนจากโลกไปยังดวงจันทร์ ซึ่งแย้งกับความเชื่อในสมัยนั้นว่าดวงจันทร์มีแสงในตนเอง

ผลงานสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การเป็นนักประดิษฐ์อาวุธ เนื่องจากในขณะนั้นมียังการรบพุ่งกันไปมา ระหว่างเจ้าแว่นแคว้นผู้ครองนครใหญ่ของอิตาลี กลายเป็นโอกาสให้ดาวินชีได้ใช้ จินตนาการทางวิศวกรรม ออกแบบผลงาน เช่น ปืนใหญ่ เครื่องร่อน เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ รถถัง

อย่างไรก็ตาม ผลงานหลายอย่างของดาวินชี ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ เช่น อนุสาวรีย์ผู้ครองนครขี่ม้าขนาดใหญ่ เนื่องจากโลหะวัตถุดิบถูกนำไปสร้างปืนใหญ่เพื่อใช้ในสงครามแทน รวมถึง ความคิดที่ล้ำยุคเกินกว่าเทคโนโลยีในขณะนั้นจะทำได้

ดาวินชียังมีความคิดหัวก้าวหน้า คือเป็นมังสวิรัติเคร่งครัด เพราะรักสัตว์มาก ชอบปล่อยนก คิดว่ามนุษย์ไม่ควรไปกักขังอิสรภาพสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ปิดบังว่าตนเองถนัดซ้าย แม้จะถูกมองนี่คือร่องรอยของซาตาน และพฤติกรรมที่แปลกคือ เขียนตัวหนังสือกลับข้างจากขวามาซ้ายแบบเดียวกับที่เห็นในกระจก

ความคิดจดจ่อกับสิ่งที่ทำ คือนิสัยที่สำคัญ เขาเคยจับผีเสื้อเพื่อมาเฝ้าดูวิธีการกระพือปีก ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าทำไมถึงบินได้ สังเกตการณ์ไหลของน้ำและคลื่นที่หมุนม้วนตัวเป็นเกลียว ภาพที่วาดไว้ได้รับการยกย่อง เทียบกับการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ในอีก 150 ปีถัดมา

การชอบบันทึกความนึกคิดไว้ ทำให้โลกได้รับรู้อัจฉริยภาพของเขาในภายหลัง จากสมุดบันทึกรวมแล้วกว่า 4,000 หน้า พร้อมกับคำบรรยายอย่างละเอียดและภาพประกอบกว่าหมื่นภาพ สมุดเล่มหนึ่งในปัจจุบัน "Codex Leicester" อยู่ในความครอบครองของมหาเศรษฐี Bill Gates ด้วยมูลค่าประมูล 30.8 ล้านเหรียญ

ท่านที่สนใจอยากดูต้นฉบับจริง สามารถค้นหาจาก ห้องสมุดสหราชอาณาจักร (The British Library) เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าดูผ่านออนไลน์ได้

ในช่วงท้ายของชีวิต ดาวินชีย้ายไปฝรั่งเศส ตามคำเชิญของกษัตริย์ Francois ที่ 1 ผู้ชื่นชมผลงานของเขามาก พร้อมกับนำผลงานบางส่วนติดมือไปด้วย และนี่เป็นสาเหตุให้ภาพ Mona Lisa อยู่ที่ฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน

หัวใจนักปราชญ์

การค้นหาความรู้ คือวิถีชีวิตของปราชญ์ ถ้าความเป็นเลิศเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งหาได้ยากแล้ว ความเก่งกาจในหลายด้านยิ่งเป็นสิ่งพิเศษสุด เป็นเรื่องน่าทึ่งว่า คนคนหนึ่งจะมีอัจฉริยภาพได้หลากหลายพร้อมๆกันเช่นนี้

เราลองเชื่อมโยงวิธีการของดาวินชี ตามหลักของหัวใจนักปราชญ์  "สุ - จิ - ปุ - ลิ “ ที่แม้คำว่า ไนักปราชญ์” อาจดูไกลตัวเกินคนทั่วไป แต่ปัจจัยทั้ง 4 เป็นหลักการพื้นฐานที่ ไม่ว่าผู้ใดก็สามารถปฏิบัติได้ในวาระครบรอบ 500 ปีนี้ นอกจากการรับทราบผลงานต่างๆ มากมายของเขาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถเรียนรู้ วิถีของดาวินชี อันเป็นที่มาแห่งอัจฉริยภาพของเขาด้วยครับ

โดย... กฤชชัย อนรรฆมณี