ยุทธศาสตร์บริหารปัญหาน้ำเค็ม(จบ)

ยุทธศาสตร์บริหารปัญหาน้ำเค็ม(จบ)

ถามว่าอะไรคือเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่เกี่ยวกับความเค็ม ณ เวลานี้?

"ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และดิน ทุกอย่างสำคัญหมด จึงต้องใช้ "พื้นที่" เป็นตัวตั้งในการบริหารจัดการเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้นไปที่ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เกษตรอินทรย์ ก็ต้องดูเรื่องการใช้เทคนิคแก้ไขหรือลดความเค็มในดินเค็ม เพิ่มน้ำสำรองเพื่อเจือจางน้ำเค็มและอะไรที่ตอบโจทย์ด้านเกษตร ส่วนภาคเหนือและภาคกลาง เป็นเรื่องการจัดการน้ำต้นทุน เพื่อรักษาความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีคนทำวิจัยว่า ถ้าน้ำในสถานีสูบน้ำสำเหร่ ซึ่งเป็นแหล่งที่สูบขึ้นมาทำน้ำประปากรุงเทพฯ เค็ม จะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเมื่อไร อย่างไร แต่ถ้าเขื่อนไม่มีน้ำจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตจึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล ทั้งการใช้น้ำในพื้นที่ภาคกลาง และการรักษาระบบนิเวศ เพื่อไล่ความเค็ม เพราะน้ำที่ใช้ไม่ได้ปล่อยมาเพื่อไล่ความเค็มอย่างเดียว แต่ต้องใช้กันทั้งลุ่มน้ำ

ขณะที่ภาคตะวันออกกับภาคใต้ จะเน้นเรื่องประปารองรับน้ำกินน้ำใช้และการท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ระยะการไหลสั้นมาก น้ำไหลมานิดเดียวก็ไหลลงทะเลหมด การกักเก็บน้ำเพื่อไล่ความเค็ม เพื่อทำน้ำประปาจึงสำคัญ รวมทั้งมีพื้นที่เกาะมากมาย ฉะนั้น ต้องเร่งทำวิจัยในเรื่องเทคนิคการเก็บน้ำและน้ำฝนในพื้นที่ในเกาะโดยเร็ว รวมถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับการทำเขื่อนใต้ดินและการกรองน้ำทะเลต้นทุนต่ำ เพราะคนที่อาศัยบนเกาะต้องใช้น้ำในราคาที่แพงมาก ๆ

ประเทศไทยใช้น้ำใต้ดินเยอะมาก แต่ไม่ได้อยู่ในแผนหลักของการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ เราจะเห็นแต่แผนผังน้ำผิวดิน ขาดน้ำใต้ดิน และน้ำเสีย ในแผนเดียวกัน จึงยังเป็นปัญหา ที่ผ่านมาให้ความสำคัญของน้ำบาดาลในฐานะเป็นน้ำสำรองยามวิกฤติ ทั้งที่มีโครงการชลประทานน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ดีมากๆ เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบการใช้ และเติมน้ำใต้ดิน ให้พื้นที่ชลประทานได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ระยะหลังมีหน่วยงานที่ทำงานด้านน้ำบาดาลพยายามดูแลโดยเฉพาะขึ้น มีการรายงานสถานการณ์น้ำบาดาล และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ยังน้อย งบประมาณน้อย เพราะคนที่สนใจศึกษาด้านนี้ก็ยังมีน้อยมาก

“กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่เข้มแข็งมาก มีบุคลากรและงบประมาณจำนวนมาก แต่ถูกกำหนดบทบาทให้ดูแลพื้นที่ในเขตชลประทานซึ่งมีเพียง25-30 %ของประเทศ ขณะที่ประเทสไทยมีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานเยอะมาก ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องน้ำนอกเขตชลประทานก็กระจัดกระจาย งบประมาณ และบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่นก็มีน้อยมาก สุดท้ายชาวบ้านนอกเขตชลประทานก็ค่อนข้างสับสน และน่าเห็นใจ เพราะไม่รู้จะได้รับการสนับสนุน ดูแล จากหน่วยงานไหนกันแน่ จึงได้แต่รอลุ้นจากน้ำฝน แต่จากสถานการณ์ที่แปรปรวนของภูมิอากาศ ถือว่าเสี่ยงมาก ถ้าเราพัฒนาระบบธรรมาภิบาลด้านน้ำและบูรณาการการทำงานด้านน้ำแบบรัฐ-ท้องถิ่นไม่ได้ ปัญหาด้านน้ำก็แก้ไขได้ยาก” ดร.โพยม สรุป

โดย... สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)