97 ปีจากทะเบียนการค้า สู่พัฒนาธุรกิจการค้า

97 ปีจากทะเบียนการค้า สู่พัฒนาธุรกิจการค้า

กรมทะเบียนการค้า ก่อตั้งขึ้น โดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2466.

 หน้าที่รับผิดชอบคือ งานชั่งตวงวัด. งานจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท งานประกันภัย งานเครื่องหมายการค้า งานสิทธิบัตร

ต่อมามีการขยายและปรับปรุง และแบ่งส่วนราชการ ใหม่หลายครั้ง มีงานในหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น คือ งานด้านการกำกับควบคุมการทำบัญชี การสอบบัญชี การกำกับควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว. การกำกับดูแลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง

ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงส่วนราชการ งานประกันภัยแตกลูกออกไปเป็นสำนักงานประกันภัย เป็นส่วนราชการระดับกรมในปี 2532 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมการประกันภัย

ในปี 2535 กรมทะเบียนการค้าก็แตกลูกอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการโอนงานด้านสิทธิบัตร และด้านเครื่องหมายการค้า ของกรมทะเบียนการค้า ไปรวมกับงานด้านลิขสิทธิ์ ของกรมศิลปากรจัดตั้งเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ในช่วงที่เป็นกรมทะเบียนการค้า ประมาณ 40 - 50 ปีที่แล้ว มีผู้บริหารท่านหนึ่งเรียกกรมทะเบียนการค้าแบบประชดประชันว่า กรมทะเบียนการค้าเป็นกรมน้ำหมาก สื่อความหมายว่าเป็นกรมไม่ทันสมัย โบราณ คร่ำครึ แต่ในความที่ถูกเรียกว่าเป็นกรมน้ำหมากนั้น กรมทะเบียนการค้าเป็นกรมที่มีการพัฒนาการบริหาร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชนตลอดมา เช่น การให้บริการตรวจค้นข้อมูลทางทะเบียน จากเทคโนโลยี “เขี่ย ” พัฒนาเป็น “ส่อง” แล้วพัฒนาต่อมาเป็น “คลิก”

เริ่มจากเขี่ย” เป็นช่วงก่อนปี 2525 เมื่อประชาชนประสงค์จะขอตรวจค้นเอกสารการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด เจ้าหน้าที่จะนำแฟ้มทะเบียนของห้างหรือบริษัทนั้นใส่ในกรง 4 เหลี่ยมที่ตั้งไว้แล้วใส่กุญแจ ประชาชนจะใช้ไม้เขี่ยพลิกหาเอกสารในแฟ้มที่ถูกขังอยู่ในกรง เมื่อพบเอกสารที่ต้องการก็จะจดไว้ ถ้าท่านใดไม่คุ้นเคยในการเขี่ยพลิกหาเอกสาร ก็ค่อนข้างทุลักทุเลกว่าจะเขี่ยพบเอกสารที่ต้องการ

 ต่อมาในปี 2525 พัฒนาการบริการประชาชนด้วยการส่อง มีการพัฒนานำระบบไมโครฟิชมาใช้ โดยการถ่ายเอกสารทางทะเบียนเก็บไว้ในไมโครฟิล์ม ประชาชนสามารถตรวจค้นหาเอกสารทางทะเบียนได้ โดยส่องอ่านจากเครื่องอ่านไมโครฟิล์มที่ตั้งไว้บริการประชาชน ต่อมามีการพัฒนาโดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชน โดยเป็นหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานแรกที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ปฏิบัติงานและบริการประชาชน และต่อมาพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ระบบอินเตอร์เน็ทเชื่อมโยงหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค ประชาชนอยู่จังหวัดใดก็สามารถตรวจสอบข้อมูลเอกสารการจดทะเบียนได้ ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแท็ปเล็ตด้วยการ. “คลิก”

ในช่วงระหว่างปี 2543 ถึง 2544 อธิบดีกรมทะเบียนการค้า มีแนวนโยบายให้ปรับปรุงพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย และใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการบริหารงานและบริการประชาชนในทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ตั้งเป้า ให้เป็น E Department ซึ่งก็ได้ผลตามเป้าหมาย ที่จะเรียกว่าเป็น E Department ได้ กรมทะเบียนการค้าในช่วงนี้ได้นำระบบคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ต มาใช้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวกมากขึ้น เช่น สามารถจองชื่อนิติบุคคลทางอินเตอร์เน็ตได้ สามารถจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทข้ามเขต ได้ ตรวจและคัดเอกสารการจดทะเบียนและขอหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ่นส่วนได้ทั่วราชอาณาจักรต่อมาพัฒนาให้สามารถจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททางอินเตอร์เน็ตได้ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการลงลายมือชื่อในเอกสาร

ปี 2545มีการปรับปรุงระบบราชการครั้งใหญ่ กรมทะเบียนการค้าเปลี่ยนชื่อเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โอนงานชั่งตวงวัดไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการค้าภายใน โอนงานกำกับดูแลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน รับหน้าที่งานจดทะเบียนและกำกับดูแลสมาคมการค้า และหอการค้า งานส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้ามาจากกรมการค้าภายใน และงานใหม่มากคือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. ส่วนงานด้านมาตรฐานบัญชี การควบคุมผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี เมื่อมีการตั้งสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการบัญชี ปี 2547 งานส่วนนี้เปลี่ยนไปเป็นของสภาวิชาชีพบัญชีตามกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ยังอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เนื่องจากงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นงานใหม่ จึงมีการจัดตั้งกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นการภายใน และการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้มีการจัดตั้งกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยี เรียกกันว่ากระทรวงไอซีทีด้วย จึงมีการหารือเป็นการภายในระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที ในเรื่องการทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงไอซีทีจะรับผิดชอบส่งเสริมด้านเทคนิคโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชอบส่งเสริมด้านธุรกิจการค้า

ในช่วงที่เป็นกรมพัฒนาธุรกิจ มีการปรับปรุงการบริหารงาน ทั้งด้านโครงสร้าง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และปรับปรุงพัฒนาด้านเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญคือการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น เช่น ให้สามารถจัดตั้งบริษัทได้ภายในวันเดียว ลดผู้ที่จะร่วมจัดตั้งบริษัทที่เดิมกำหนดไว้ 7 คน เหลือ 3 คน ตรา พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ปี 2557ออกใช้บังคับ เปิดช่องให้ผู้ประกอบธุรกิจมีหลักประกันที่ใช้ในการทำธุรกรรมกู้เงินกับสถาบันทางการเงินได้มากขึ้นมีการพัฒนาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้น เช่นให้สามารถส่งงบการเงินทางออนไลน์ได้

สำหรับในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ย่างเข้าปีที่ 97 ของกรมทะเบียนการค้าหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน ก็มีเป้าหมายปฏิรูปองค์กรให้เป็นกรมอัจฉริยะ จะพัฒนางานให้บริการธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในปีต่อไป ส่วนการพัฒนาด้านการทำบัญชีของเอกชน จะส่งเสริมยกระดับสำนักงานบัญชีให้เป็นสำนักงานบัญชี ดิจิทัล ส่งเสริมให้นำหุ่นยนต์มาใช้ทำบัญชีการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลเป็นต้น

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรมทะเบียนการค้าหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปัจจุบัน ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 97 เกือบครบศตวรรษแล้ว ยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งพัฒนาปรับปรุงการบริหารให้ทันสมัยกับธุรกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลง และมีหัวก้าวหน้านำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาการปฏิบัติงานและให้บริการกับประชาชนให้ดียิ่งขึ้นไม่ใช่คนแก่เคี้ยวหมากน้ำหมากเปื้อนปากคร่ำครึอย่างที่มีผู้เรียกอย่างประชดประชันไว้