จัด Port อย่างไรในภาวะคาดการณ์ยาก

จัด Port อย่างไรในภาวะคาดการณ์ยาก

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน เป็นปัจจัยสำคัญชิ้นใหม่ที่ผู้ลงทุนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะบานปลายออกไปเพียงใด และต้องนับว่ามีความเสี่ยงชิ้นใหญ่เกิดขึ้นแล้วอีก 1 เรื่อง และควรจะนำมาใช้ปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

ในมุมวิเคราะห์ของผมนั้น ขอตั้งสมมุติฐานของปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก่อนที่จะสรุปเข้าสู่มุมมองของการจัดพอร์ตเงินลงทุน ดังนี้ครับ

  1. ราคาน้ำมัน จากผลพวงของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ซึ่งมีโอกาสที่จะตอบโต้กัน เป็นจังหวะ กินเวลาออกไปนานพอควร ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกปีนี้น่าจะสูงขึ้นจากปีก่อน     5-10%ผลพวงของการที่ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจที่มีต้นทุนผลิตและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ขณะที่ประชาชนผู้บริโภคทั่วไปก็จะถูกลดทอนกำลังทรัพย์และกำลังซื้ออีกทางหนึ่ง
  2.  GDP ของไทย ปี 63 ยังเติบโตต่ำ แม้ว่าสถานการณ์อาจดีขึ้นกว่าปี 62 ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก  งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกำลังจะผ่านการพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ3แต่ด้วยข้อติดขัดหลายๆประการที่สั่งสมอยู่ ทำให้สำนักวิเคราะห์วิจัยต่างๆยังคาดหวังการเติบโตไว้ที่เพียง 2.5-2.8% ซึ่งไม่น่ามีพลังพอที่จะขับเคลื่อนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนให้ดีขึ้นมากนัก
  3. คาดการณ์ EPS Growth ของตลาดโดยรวม ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ ประกอบกับ ตัวความเสี่ยงใหม่จากราคาน้ำมัน ผมเห็นว่าเราควรตั้งสมมุติฐานไว้ที่ไม่เกิน   5%
  4. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกและไทย เป็นที่คาดการณ์ของสำนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่ว่า   ดอกเบี้ย Fed และดอกเบี้ยนโยบายของไทย คงปรับลดลงประมาณ 0.25% ในปี 63 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ช่วยเสริมเล็กน้อยกับทิศทางราคาหุ้นปีนี้
  5. สงครามการค้าโลก แม้ว่าจะมีความผ่อนคลายลงบ้าง และคุณทรัมป์กำลังเกาะติดกับเรื่อง อิหร่าน แต่ด้วยเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่ประกาศมาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องแก้ไขปัญหาการค้าที่ สหรัฐฯขาดดุลให้แก่ประเทศอื่นมายาวนาน ประกอบกับปี 63 นี้ เป็นปีที่ต้องลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีสมัยสองให้ได้ ผมเตรียมใจไว้ว่า ปีนี้ทรัมป์คงออกมาตรการอะไรอีก หรืออาจย้ายไปจัดการกับประเทศอื่นๆเป็นคิวถัดไป ซึ่งจะมีผลให้หุ้นทั่วโลกได้ผันผวนอีกหลายครั้ง
  6. จัดพอร์ตแบบเตรียมใจ ด้วยประเด็นที่กล่าวเบื้องต้นมีโอกาสที่หุ้นไทยจะผันผวนขึ้นลงหลาย รอบ ดังนั้นการกระจายหลายสินทรัพย์การลงทุน จะช่วยลดความไม่แน่นอนลงไปได้ โดยน่าจะจัดพอร์ตดังนี้
  • กองทุนตราสารหนี้ ปีนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า 50% ของพอร์ต มีผลตอบแทนคาดหวัง 1.5 ถึง 2.0% ต่อปี แม้จะไม่สูงแต่ปีนี้การเก็บเงินในกองตราสารหนี้ เสมือนทีมฟุตบอลที่ตั้งเกมรับแน่นๆ รอสวนกลับตอนจังหวะดีๆน่าจะดีกว่า
  • ลงทุนในหุ้น 30% โดยกระจายเป็นหุ้นหรือกองทุนหุ้นไทย 20% และแบ่งไปกองทุนหุ้นต่างประเทศครอบคลุมทั่วโลก 10% เนื่องจาก หุ้นโลกและหุ้นไทยไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป นอกจากนั้นในจังหวะที่ราคาหุ้นเหวี่ยงลงมาลึกๆ เราควรย้ายเงินจากกองตราสารหนี้ มาเพิ่มในหุ้นหรือกองทุนหุ้นเป็น 35% หรือ 40%
  • กองทุนอสังหาฯ/REIT อีก 10% โดยเลือกในกองที่มีแนวโน้มอนาคตดี ให้ปันผลสูง อยากแนะนำว่าขณะนี้ ทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ โดยการสนับสนุนของตลท.และก.ล.ต. ได้จัดให้มีบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานให้ได้อ่านกันฟรี โดยเข้าอ่านได้ทั้งทาง iaathai.org และ www.settrade.com
  • ทองคำ ลงทุน 10% เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ดีในยามที่คนในโลก ไม่ค่อยมั่นใจทิศทางการลงทุนในหุ้น หรือเกิดภาวะความตึงเครียดทางการเมืองโลกเหมือนในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นของทองคำ จะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี และมักจะขึ้นติดต่อกันราว 10 ปี ขณะนี้ทองคำโลกเพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 4 ปี (แต่ราคาทองเป็นบาท เพิ่มขึ้นมา 1 ปีครึ่ง เป็นผลจากค่าเงินบาทแข็ง)คงพอเป็นแนวทางให้คุณผู้อ่าน ใช้ประกอบการจัดเตรียมพอร์ตลงทุนนะครับ

 ท้ายนี้ ขอประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสมาคมฯ จะเริ่มโครงการให้นักวิเคราะห์โหวตเลือก CEO, CFO และ IR ยอดเยี่ยมของหมวดธุรกิจต่างๆ ในสัปดาห์หน้าจนถึงปลายม.ค. 63 คาดว่าตัดสินได้ในเดือนมี.ค. 63 รายละเอียดติดตามได้ใน www.iaathai.org หรือ Facebook: IAA Fanpage