10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า (2)

10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า (2)

สวัสดีทศวรรษใหม่สำหรับผู้อ่านทุกท่าน ใน Global Vision ฉบับที่ 300 ฉบับนี้ จะขอเขียนถึงอีก 3 คำทำนาย

ด้านสังคม ภูมิประชากร และภูมิรัฐศาสตร์โลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนี้

4.ด้านสังคม : สู่การกระจายความมั่งคั่ง และภาษีฐานทรัพย์สิน

40 ปีก่อน สหรัฐและอังกฤษนำกระแส “การปฏิวัติเศรษฐกิจฝั่งภาคอุปทาน” (Supply-side Economic Revolution) หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ภาคการผลิตมีประสิทธิภาพขึ้น โดยลดกฎระเบียบ งดภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital gain) และลดอำนาจต่อรองของแรงงาน และทำให้อำนาจต่อรองของบริษัทเพิ่มขึ้น

แต่หลังจากเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา ความรู้สึกต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคนในสังคม โดยเฉพาะคนชั้นกลางในประเทศเจริญแล้ว รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ จากแรงงานและการผลิตที่ย้ายไปประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ต้นทุนถูกกว่า ในขณะที่ในประเทศเจริญแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์จะได้แก่ผู้ร่ำรวยและเป็นเจ้าของกิจการ จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะเก็บภาษีฐานทรัพย์สินมากขึ้น เนื่องจากคนรวยมีทรัพย์สินมากกว่า

ดังนั้น ในสิบปีข้างหน้าจึงหมดเวลาของ การสะสมความมั่งคั่ง” (Wealth accumulation) และเข้าสู่ การกระจายความมั่งคั่ง” (Wealth distribution) นั่นคือเปลี่ยนแนวคิดจากการที่ภาครัฐจะสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการให้ทำกำไรได้อย่างไร เป็นภาครัฐจะสนับสนุนให้กระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร

สำหรับบริษัทในอนาคตจะปรับตัวเป็น องค์กรที่สมดุล โดยจะรักษาสมดุลระหว่างผลกำไรและการคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย (Stakeholder) ในด้านการลงทุน กระแส ESG หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลจะมีมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกจะหันมาเก็บ ภาษีความมั่งคั่ง” (Wealth tax) หรือภาษีฐานทรัพย์สินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน มรดก หรือเก็บจากความมั่งคั่งโดยตรง ซึ่งในสิบปีข้างหน้านโยบายเช่นนี้จะมีมากขึ้น

5.ด้านภูมิประชากร : สังคมสูงวัย สู่สังคมเมือง และการผงาดของชนชั้นกลาง

ประเด็นด้านภูมิประชากร (Demography) ที่สำคัญสูงสุดในอนาคตคือ ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) โดยในปัจจุบัน ประชากรโลกมีประมาณ 7,600 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคนในสิบปีข้างหน้า

ในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเกิดภาวะ เด็กหาย (แต่คนแก่เพิ่ม)” (Peaked youth) โดยจำนวนประชากรที่อายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีจำนวนเท่ากับผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ประมาณ 650 ล้านคน แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้าประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีจำนวนเท่าเดิม (หรือลดลงบ้าง) แต่ประชากรอายุมากกว่า 65 ปีจะเพิ่มขึ้นจนเกือบ 2,500 ล้านคน

สาเหตุเป็นเพราะวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และการคุมกำเนิดประชากรที่ได้ผล ทำให้อายุขัยของผู้คนยาวนาน ทำให้ความต้องการจับจ่ายลดลง โดยนอกจากค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์แล้ว ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวันโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและวัยเด็กโดยเปรียบเทียบ ส่งผลโดยรวมให้เงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง

กระแสที่สองได้แก่การผงาดของสังคมเมือง ที่มาพร้อมกับชนชั้นกลาง

เป็นธรรมดาของการพัฒนา ที่จะเปลี่ยนผันภาคเศรษฐกิจจากเกษตรสู่อุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดสังคมเมือง (Urbanization) รวมถึงการผงาดของชนชั้นกลาง โดย 50% ของประชากรโลกอยู่ในเมืองใหญ่ในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ใน 2030 และกว่า 80% ของการเติบโตของสังคมเมืองจะอยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ขณะที่จำนวนชนชั้นกลางก็จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉลี่ยในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น 150 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชีย

ด้วยกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่มากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าคงทน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ รวมถึงบริการเช่น การท่องเที่ยว การสันทนาการ การศึกษา และการเดินทางมีมากขึ้นในสิบปีข้างหน้า

นอกจากนั้น แม้ว่าจำนวนประชากรสูงวัยจะมีมากขึ้น แต่ผู้ที่จับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่คือผู้ที่มีกำลังซื้อ อันได้แก่คน Gen X (วัย 40-55 ปีในปัจจุบัน) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในจีน ญี่ปุ่น และยุโรป (และเป็นวัยที่มีกำลังซื้อสูงสุด) และ Gen Y หรือ Millennials (วัย 25-39 ปี) ที่เป็นวัยทำงาน (ที่มีความถนัดในเทคโนโลยี) และเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าและบริการที่แสดงถึงสถานะทางการเงิน สินค้าด้านเทคโนโลยี รวมถึงบริการสมัยใหม่ เช่น e-commerce, same-day delivery ที่ตอบโจทย์ทั้ง Millennials และ Gen Z (อายุ 10-24 ปี) ที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี (Digital native) จะเป็นที่ต้องการมากในทศวรรษหน้าด้วย

6.ด้านภูมิรัฐศาสตร์ : จากสงครามเย็นสู่สงครามร้อน และการผงาดของโลกตะวันออก

คำถามสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ในสิบปีข้างหน้า ได้แก่ 1.สงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีนจะแปรเปลี่ยนเป็นสงครามร้อนหรือไม่ และ 2.ความยิ่งใหญ่สหรัฐ (รวมถึงยุโรปและโลกตะวันตก) จะถดถอยและถูกแทนที่ด้วยจีนและโลกตะวันออกหรือไม่

ในประเด็นแรก สงครามทางทหารจะเกิดขึ้นได้หากผู้นำคำนวณว่าผลเสียจากการสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจน้อยกว่าศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งผู้นำจีนจะคำนวณผลได้ผลเสียและคิดว่าไม่คุ้มที่จะทำสงครามทางทหารกับสหรัฐ แต่จะเล่นเกมยาว โดยดึงเกมให้หมดสมัยที่สองของทรัมป์ และตระเตรียมกำลังพลและเส้นทางอพยพของชาวจีนให้พร้อมกับสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในครึ่งหลังของทศวรรษ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผู้นำของสหรัฐและกระแสสังคมหลังยุคของทรัมป์เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เกิดสงครามทางทหารระหว่างจีนและสหรัฐในครึ่งแรกของทศวรรษ แต่ความสัมพันธ์ของสองยักษ์ใหญ่จะแย่ลงเป็นลำดับ (Drifting apart) ทั้งในแง่ของการค้า การลงทุน เทคโนโลยี รวมถึงความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางทหารที่จะมีมากขึ้น

ในประเด็นที่สอง การถอยออกจากกระแสโลกาภิวัตน์ของสหรัฐและยุโรป ผ่านการเลือกผู้นำสุดโต่งอย่างทรัมป์ ขณะที่กระแสสังคมของยุโรปที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์มากขึ้น ทั้ง Brexit การกีดกันผู้อพยพ รวมถึงทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆ จะทำให้ซีกโลกตะวันตกลดความสำคัญในเวทีโลกลงและหันมาเน้นความสำคัญในประเทศมากขึ้น

ในทางกลับกัน การผงาดของ 3 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียเหนือ การรวมกลุ่มของอาเซียน และความร่วมมือของทวีปออสเตรเลีย จะทำให้เอเชียจะเริ่มเพิ่มความสำคัญใน 10 ปีข้างหน้า โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากที่สุดได้แก่จีน ที่จะผงาดขึ้นเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย

เหล่านี้คือ 3 คำทำนายด้านสังคม ภูมิประชากร และภูมิรัฐศาสตร์ แล้วคำทำนายที่เหลือ จะเป็นเช่นไร โปรดติดตาม

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]