สังคมเหงาในยุคดิจิทัล

สังคมเหงาในยุคดิจิทัล

ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 57 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 82% ของประชากร และมีคนที่ใช้ Social Media เป็นประจำ 51 ล้านคน

หากเทียบกับประเทศอื่นๆแล้วเฉลี่ยคนไทยใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตสูง (รวมทุกอุปกรณ์) เป็นอันดับสามของโลก 

โดยคนไทยใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงต่อวันในการทำกิจกรรมออนไลน์ ( Hoot suite, 2562) เราเป็นประเทศที่มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากรนั่นคือ 92.33 ล้านเลขหมาย และเราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรที่มีการเชื่อมต่อกัน ผ่านสื่อดิจิตัลตลอดเวลา มักที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ (always on society) และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็วเมื่อมีสิ่งใหม่ๆเข้ามา 

ในขณะที่ตัวเลขของการใช้เวลาบนอินเตอร์เนทของคนไทยอยู่ในอัตราที่สูงมาก มีการเปิดรับและตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อีกด้านกลับมีผลกระทบในแง่ลบที่ตามมา เราพบว่าการเชื่อมโยงกับบนโลกออนไลน์นั้นกลับทำให้ผู้คนรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวมากขึ้น อีกทั้งยังมีผลกับสภาพจิตใจและพฤติกรรมของคนไทยอีกด้วย จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า มากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนประชากรไทยนั้นจัดเป็นกลุ่มคนเหงา นั่นคือเราจะมีคนเหงามากถึง 26.7 ล้านคน

คันทาร์ ประเทศไทยได้ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมของคนเหงา ในเดือนก.ย.2019 ที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า คนเหงาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อย (อายุเฉลี่ยคือ 20-39 ปี) และเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี เป็นคนที่ทำงานในออฟฟิศหรือเป็นข้าราชการ และมีรายได้อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง

เมื่อมองในมุมของครอบครัวทั้งคนโสดและคนแต่งงานค่าเปอร์เซนต์ของการเป็นคนเหงานั้นพอๆกัน กลุ่มคนที่อยู่ในครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกครอบครัว 3 generation กลับเป็นกลุ่มคนที่เหงามากกว่าคนที่อยู่ในครอบครัวเดี่ยว เนื่องจากสมาชิกครอบครัวของครอบครัวใหญ่จะรู้สึกโดดเดี่ยว แม้ว่าจะอยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวอื่นๆ สาเหตุมาจากความแตกต่างระหว่าง (generation gap) และความไม่เข้าใจระหว่างกันทำให้เกิดความห่างเหิน

ความเหงาเป็นภาวะของจิตใจที่ส่งผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ และยังส่งผลในการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และศักยภาพความพร้อมในการเข้าสังคมอีกด้วย จากผลของการศึกษาของคันทาร์ ประเทศไทย 60% ของคนไทยรู้สึกว่าตัวเองอยู่คนเดียวในโลก ในขณะที่ 15% ของคนเหงาแม้ว่าเขาจะใช้เวลาไปกับ social media มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน แต่กลับพบว่าเขาก็ยังรู้สึกเหงาและต้องการเชื่อมโยงกับบุคคลอื่นๆและเห็นว่าเป็นเรื่องยากอีกด้วย 94% ของคนเหงาบอกว่าเขาไม่รู้สึกว่า เขาสามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นๆได้ในชีวิตจริง 80% บอกว่าเขาอยู่ในภาวะเครียดสูงมาก การใช้เวลากับอินเตอร์เนทและ social media ส่งผลกระทบในแง่ลบกับคนไทยทำให้เขารู้สึกว่าต้องการช่วงเวลาเบรคหรือหยุดพักจากโลกของอินเตอร์เนท 90% ของคนเหงาบอกว่า การพักจากอินเตอร์เนทและมือถือ เป็นสิ่งที่สำคัญ

ทีมงานวิจัยของ อินไซท์ คันทาร์ ประเทศไทย ที่ได้สำรวจเรื่องพฤติกรรมของคนเหงา ได้ให้ความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับความเหงาไว้ในหลายนิยามจากการทำสำรวจนี้

ปัณณธร มุรธาทิพย์ “ความรู้สึกเหงาเป็นภาวะที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน การที่เราอยู่คนเดียวไม่ได้แปลว่าเราจะรู้สึกเหงา หรือการที่เราอยู่รายล้อมกลางผู้คนก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้สึกไม่เหงา จากผลวิจัยของ (Kantar’s Survey,2019) พบว่า หลายคำพูดที่ถูกพูดถึงในอินเตอร์เนทที่ไม่ใช่คำว่า “เหงา” ก็สามารถแสดงถึงอาการเหงาได้ เช่น  กลัว,เศร้า,โดดเดี่ยว เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราจึงควรที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่สามารถรรับมือและประเชิญหน้ากับความรู้สึกนี้ได้หากมันเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือกับคนรอบข้างเรา ”

ธวัลรัตน์ เฮงษฎีกุล “คนเหงาไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมที่เขาไม่อาจจะรับมือได้(Perlman and Peplau, 1981; Jones, 1981; Kantar’s Survey, 2019)แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อยากโดดเดี่ยว ทั้งนี้คนเหงาไม่ได้เข้าใจยาก เพียงแต่ความเหงามักจะถูกเก็บไว้ในใจ (Cutrona,1982;Kantar’s Survey,2019) คนมักไม่พูดถึงความเหงาคนเหงาจึงมักคิดว่าไม่มีใครจะเหงาได้เท่ากับตัวเขาเอง(Perlman and Peplau, 1981)”

ไอศูรย์ มั่นธนาสกุลกรณ์ “ในยุคปัจจุบันความเหงานับว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทั้งปัจเจกบุคคลและสังคม ซึ่งองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนหรือแม้กระทั่งจากแบรนด์สินค้านับว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่สามารถเข้ามามีบทบาทในการบรรเทาปัญหานี้ โดยสามารถดำเนินการออกนโยบายหรือแคมเปญต่างๆ สำหรับคนเหงาเพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายและเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมกับสังคมของพวกเขาให้มากขึ้นได้ เช่น งานวิจัยจาก European Journal of Social Psychology ได้สรุปผลการวิจัยว่าการที่แบรนด์ใช้รูปใบหน้าของมนุษย์หรือรูปเสมือนมนุษย์บนโลโก้หรือบรรจุภัณฑ์จะสามารถบรรเทาความรู้สึกเหงาจากการขาดการเชื่อมต่อทางสังคมได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างความรู้สึกรักต่อแบรนด์นั้นๆ ให้กับผู้บริโภคได้อีกด้วย ดังนั้นองค์กรต่างๆ ควรที่จะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้และควรเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเหงาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การที่ผู้คนรู้สึกเหงาแม้ว่าจะเชื่อมโยงกับบุคคลอื่นผ่านทางโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลานั้นกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจและพฤติกรรม เป็นสื่อที่สะท้อนถึงผลกระทบของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายให้แก่องค์กรต่างๆในปัจจุบัน