นับหนึ่งศึกแก้ 'รัฐธรรมนูญ'

นับหนึ่งศึกแก้ 'รัฐธรรมนูญ'

แค่ยกแรกก็เชือดเฉือน เรียกดราม่าแล้ว สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ปี 2560

เมื่อขั้วรัฐบาลเสนอชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เอาชนะ “โภคิน พลกุล” แกนนำพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 25 ต่อ 19 เสียง

ซึ่งเสียงโหวตเลือก “ประธานกมธ.” สะท้อนเสียงโหวตของ ขั้วรัฐบาล-ขั้วฝ่ายค้าน ในศึกชิงธงแก้รัฐธรรมนูญ จากจำนวนกมธ.ทั้งหมด 49 เสียง อยู่ขั้วรัฐบาล 30 เสียง ขั้วฝ่ายค้าน 19 เสียง ห่างกัน 11 เสียง จึงยากที่พลิกเกมได้

แถม ขั้วรัฐบาล แต่ละพรรคการเมืองมีธงนำของตัวเองที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ขุนพลโควตารัฐบาล ผนึกกำลังกับโควตาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เล็งแก้รูปรัฐธรรมนูญในหมวดของการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักอีกครั้งว่า หากกลับไปใช้บัตร 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค จะเข้าทางมากกว่าใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ เพราะหากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หรือพรรคสาขา 2 ของอนค. (หากมีการยุบพรรค) จะถือว่าได้เปรียบโกย ส.ส.บัญชีรายชื่อ มากกว่าใครเพื่อน

ขณะที่ธงนำของ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยากแก้รูปแบบการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ บางขั้วในปชป. พยายามเดินเกมสกัด “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมามีอำนาจอีก จึงแอบหวังให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ให้ 250 ส.ว. มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ดูตามรูปเกมแล้วยากที่ ขุนพลปชป. จะขับเคลื่อนให้ถึงจุดหมาย แม้ตัวแทนที่มานั่งเก้าอี้ กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ จะเก๋าเกมการเมืองก็ตาม

ขณะเดียวกัน ขั้วฝ่ายค้าน จุดหมายสูงสุดคือการรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้งทั้งฉบับ จุดพลุให้ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อขจัดมรดกคสช. เซ็ตเกมเล่นใหม่ทั้งกระดาน

แต่ปัญหาอยู่ที่เสียงของ ขั้วฝ่ายค้าน มีเพียง 19 เสียง ทางเดียวที่จะมีโอกาสพลิกมาชนะ คือการดึงคะแนนจาก ขั้วรัฐบาล สร้างตำนาน งูเห่า บทใหม่ จึงต้องจับตาว่าจะมี ดีลลับ-สัญญาใจ กับพรรคการเมืองใดหรือไม่

โดยเฉพาะพรรคปชป. เจ้าของฉายา “รัฐอิสระ” ร่วมด้วยช่วยกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็พร้อมสละเรือหากวัดกระแสแล้ว “เรือเหล็ก” ของ “ประยุทธ์” ส่อแววจะล่ม