พลังงานพารวย...เปลี่ยนแดดเป็นเงินลดโลกร้อน

พลังงานพารวย...เปลี่ยนแดดเป็นเงินลดโลกร้อน

ภาคเกษตรกรรมถือเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ แต่ดูเหมือนเกษตรกรไทยยังล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด

เราอาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมเกษตรกรไทยไม่รวยเหมือนต่างประเทศ คำตอบคงสะท้อนมาจากปัญหาในการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต้นทุน องค์ความรู้ เทคโนโลยี การจัดการปัญหาการตลาด ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งฝนตกน้ำท่วม ความแห้งแล้ง ล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงในการทำการเกษตรทั้งสิ้น 

ในมุมสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน สมัยก่อนที่เป็นเกษตรแบบดั้งเดิมดูเหมือนไม่ต้องใช้พลังงานอะไร แค่รอฟ้า รอฝน ก็เพาะปลูกได้ การทำงานก็ใช้แรงงานคนเป็นหลัก ต่างจากในปัจจุบันที่ภาคเกษตรมีการใช้พลังงานในหลายรูปแบบ เพราะมีเครื่องจักรมาแทนแรงงานคนเพื่อลดต้นทุนและเร่งการทำงานให้สามารถแข่งขันได้ การใช้พลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำมันซึ่งผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ก็เป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการลดปัญหาโลกร้อน 

ปัจจุบันประเทศไทยโดยกระทรวงพลังงานได้พยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้ฟอสซิลแต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่าการใช้พลังงานทดแทนไม่ได้มีดีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถทำให้เกษตรกรรวยขึ้นด้วย

157715727021

แนวคิดในการทำการเกษตรยุคใหม่ ไม่ว่าจะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ เราสามารถนำความรู้ด้านพลังงานมาลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า หรือแม้กระทั่งการผลิตพลังงานขายได้เลย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากระทรวงพลังงาน ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาคเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ใช้แนวคิดที่ว่า “พลังงานพารวย”สร้างโมเดลใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้อย่างครบวงจร เกิดเป็นธุรกิจการเกษตรที่มีความยั่งยืน สำหรับโมเดลที่อยากนำเสนอในวันนี้ขอเรียกว่า “การเปลี่ยนแดดเป็นเงิน” แสงแดดเป็นของฟรีในธรรมชาติ และมีปริมาณมหาศาลไม่มีวันหมดสิ้น พูดถึงพลังงานกับแสงแดด เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึงโซลาร์เซลล์ที่ติดบนหลังคาบ้านเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า นั่นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในการนำแสงแดดมาใช้ประโยชน์แต่ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมายที่จะเปลี่ยนแสงแดดเป็นเงินได้

157715729785

ที่อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก โด่งดังเรื่องกล้วยตากบางกระทุ่มที่มีมายาวนาน อย่างที่เรารู้กันว่าการทำกล้วยตากแบบเดิม เกษตรกรจะตากกล้วยบนพื้นที่เปิดโล่ง แน่นอนว่านอกจากแสงแดดที่จะได้รับแล้ว ยังแถมมาด้วยฝุ่นและแมลงรบกวน นี่ยังไม่รวมถึงวันที่โชคร้ายมีฝนตก ผลผลิตกล้วยตากที่ออกมาเสียคุณภาพผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยคนที่รับประทานกล้วยตากอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ไม่มั่นใจเต็มร้อยเรื่องความสะอาด

พพ.จึงได้ทำการออกแบบพาราโบล่าโดม (ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์) และเริ่มเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ลองใช้ตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ได้ผลที่ดีมากและเกิดการแพร่หลายอย่างรวดเร็วพาราโบล่าโดมหรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นโรงเรือนตากกล้วยที่คลุมปิดด้วยแผ่นพลาสติกทั้งหลัง มีระบบระบายอากาศและความชื้น ใช้หลักการของภาวะเรือนกระจกทำให้ภายในโดมมีความร้อนสูงมากกว่าอากาศทั่วไป

157715741644
ผลที่ได้ก็คือ กล้วยตากแห้งเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการผลิต ลดความชื้นและลดการเกิดเชื้อรา ไม่มีแมลงรบกวน มีความสะอาดปลอดภัยอีกทั้งยังสามารถผ่านการรับรองมาตรฐาน
GMP (Good Manufacturing Practice) เพิ่มความมั่นใจแก่ผู้บริโภค จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กล้วยตากและขยายตลาดเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้ยังได้ปรับใช้กับสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น กาแฟ พริกแห้งยางพารา มะเขือเทศ ผลไม้อบแห้ง ข้าวแต๋นเครื่องเทศ สมุนไพร และอาหารทะเลเป็นต้น นอกจากเรื่องการเกษตรแล้ว โรงอบพาราโบล่ายังสามารถเพิ่มผลผลิตการเลี้ยงปลาด้วย “บ่อเลี้ยงปลาแสงอาทิตย์” โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ที่บางช่วงเวลาของปีมีอากาศเย็น ทำให้ปลาที่เลี้ยงโตช้า ดังนั้นการใช้โรงเรือนคลุมบ่อเลี้ยงจะช่วยรักษาและควบคุมอุณหภูมิน้ำซึ่งส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของปลานอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนด้านอาหารในการเลี้ยงได้อีกด้วย

เราจะเห็นว่าความร้อนจากแสงแดดนั้นมีมากมายมหาศาลและไม่มีวันหมดสิ้น การนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เช่นในตัวอย่างโรงอบต่างๆ ข้างต้น ทำให้เราไม่ต้องใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล สามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนก็มีอาชีพที่มั่นคง มีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีมูลค่าสูง และปลอดภัยต่อสุขภาพ

หากเราสามารถประยุกต์ใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม คำว่า พลังงานพารวย ก็คงไม่เกินความจริง พลังงานช่วยสร้างชีวิต สร้างอาชีพ ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถใช้พลังงานสร้างโลกให้สวยงามน่าอยู่ได้ นี่คงเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่อยากบอกทุกท่านว่าพลังงานนั้นมีคุณค่าและสามารถสร้างมูลค่าและหวังว่าเรื่องของพลังงานจะได้ช่วยเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะส่งเสริมภาคเกษตรกรรมของประเทศให้สามารถพัฒนาก้าวหน้าและสร้างความมั่นคงในอาชีพแก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

โดย... 

วัชรินทร์ บุญฤทธิ์

นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

คณะกรรมการรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก