84 องค์กรร่วมขับเคลื่อน SDGs เป้าที่ 12.6

84 องค์กรร่วมขับเคลื่อน SDGs เป้าที่ 12.6

จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก

ในข้อมูลหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) Target 12.6 – Country Tracker ในรอบการรายงานปี 2558 ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยจำนวน 41 เล่ม

ในปี พ.ศ.2559 สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าเป็น GRI Data Partner เพื่อร่วมจัดทำฐานข้อมูล SDD ของ GRI ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 12.6 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศ ผลักดันให้กิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท

ทำให้ ในรอบการรายงานปี 2559 ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม (เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และในรอบการรายงานปี 2560 เพิ่มจำนวนเป็น 120 เล่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11)

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานข้อมูล SDD ของ GRI มากเป็นอันดับ 5 ของโลก

เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการส่งเสริมให้กิจการมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ได้แก่ การประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ในรูปแบบของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน

ในการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ปี 2562 แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ Sustainability Disclosure Award (รางวัลเกียรติคุณ) มีองค์กรที่ได้รับรางวัล จำนวน 27 แห่ง Sustainability Disclosure Recognition (ประกาศเกียรติคุณ) มีองค์กรที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ จำนวน 21 แห่ง และ Sustainability Disclosure Acknowledgement (กิตติกรรมประกาศ) มีองค์กรที่ได้รับกิตติกรรมประกาศ จำนวน 36 แห่ง ตามลำดับ

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 45% ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 35% ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนน 20% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล พิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

สำหรับกิจกรรมการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2562 ภายใต้ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (SDC) ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 104 องค์กร นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่องค์กรที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะแล้ว ยังต้องการเชิดชูองค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลทั้ง 84 แห่ง ที่ได้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ 12.6 ร่วมกันด้วย

ขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในปีนี้ ทั้ง 84 ราย และหวังว่าจะสามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป