พลวัตของเกมสงครามการค้าสหรัฐ-จีนต่อเศรษฐกิจโลก 2563

พลวัตของเกมสงครามการค้าสหรัฐ-จีนต่อเศรษฐกิจโลก 2563

ยุทธศาสตร์อเมริกาต้องมาก่อน (American First) กับยุทธศาสตร์ Made in china 2025 เป็นการปะทะกันในระดับยุทธศาสตร์ของสองชาติมหาอำนาจ

เป็นการขัดแย้งกันในระดับยุทธศาสตร์จึงยากที่จะคลี่คลายได้ในเวลาอันสั้น มีการกล่าวหากันไปมาและตอบโต้ทางการค้า ตั้งกำแพงภาษีและเคลื่อนไหวออกมาตรการหรือกฎหมายกดดันฝ่ายตรงกันข้าม

ผมถือเอาเดือน ก.ค.2561 เป็นจุดเริ่มตั้งของเกมสงครามการค้านี้ เริ่มต้นจากการขึ้นภาษีโดยสหรัฐต่อสินค้านำเข้าจากจีน 25% สินค้ามูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จีนตอบโต้ทันทีด้วยการขึ้นอัตราภาษีและครอบคลุมมูลค่าระดับเดียวกัน แต่มุ่งไปที่สินค้าเกษตรอันเป็นฐานทางการเมืองของผู้นำประชานิยมขวาจัดแบบโดนัลด์ ทรัมป์

ผลกระทบในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดเจนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก ส่งออกไทยติดลบ กระทบต่อระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกหลากหลายอุตสาหกรรม เศรษฐกิจประเทศหลักๆ ล้วนชะลอตัวลงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดผลกระทบจากพฤติกรรมทุ่มตลาด สินค้าถูกๆ จากจีนไหลทะลักเข้าไทยกระทบต่อผู้ผลิตภายใน กำลังซื้อจากภาคการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอ

ด้วยเครือข่ายข้อตกลงทางการค้าเสรี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เกิดห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศที่กว้างขวางและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเครือข่ายการผลิต(Production Network) การแบ่งขั้นตอนการผลิต(Fragmentation)ภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศกลายเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางและขั้นต้นมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการค้าขายสินค้าสำเร็จรูปอย่างเดียว

สงครามทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ-จีนอันยืดเยื้อ จะปรับเปลี่ยนเครือข่ายการผลิตโลก เราอาจเห็นการพักรบเป็นระยะๆ ภายใต้เกมแห่งสงครามนี้ ได้เกิดวิกฤตและโอกาสเป็นระยะๆ เช่นเดียวกัน และแน่นอนพลิกโฉมระบบการค้าเสรีและทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมายังอาเซียนอาจมีการทบทวนใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากผลกระทบสงครามการค้าจะเกี่ยวพันกับแนวโน้มว่า ข้อพิพาทและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จะพัฒนาไปในรูปแบบใดหลังการเลือกตั้งสหรัฐ

สิ่งนี้จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ต่อไป ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีหน้า จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากเป็นพิเศษ ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมนั้นยังคงเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอยู่ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น

สัญญาณสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐ มีทิศทางดีขึ้นจากการบรรลุข้อตกลงเฟสแรกบางส่วน ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ การค้าโลกและตลาดการเงินโดยรวมปี 2563 คาดทำให้จีดีพีโลกและระบบการค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า การลงทุนในตลาดการเงินโลกคึกคักมากขึ้น ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น น่าจะมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปลายปีถึงต้นปีหน้า ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

โดยภาพรวม รายละเอียดข้อตกลงบางส่วนของการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเฟสแรก ได้แก่ สหรัฐเสนอว่า

1.ยกเลิกการขึ้นภาษี 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ครอบคลุมสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีดิโอเกม โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่น ผู้บริโภคอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย

2.ปรับลดภาษีสินค้า 1.2 แสนล้านดอลลาร์เหลืออัตรา 7.5% (จากเดิม 15% และบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2562) ทั้งนี้จะยังคงภาษี 25% สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ 

ขณะที่จีนตกลงในประเด็น

1.การซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในเวลา 2 ปี โดยจีนเน้นย้ำว่าจะต้องสอดคล้องกับความต้องการตลาดและเป็นไปตามข้อตกลงภายใต้ดับเบิลยูทีโอ

2.เปิดเสรีภาคการบริการ ได้แก่ การเปิดเสรีการเงินการธนาคาร การประกันภัย และหลักทรัพย์

3.ปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี

4.ไม่ดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้สหรัฐประกาศเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเฟส 2 ต่อ หากการเจรจาเฟส 2 สามารถบรรลุเป้าหมายภายในกลางปีหน้า จะส่งผลให้ระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจกับเข้าสู่การขยายตัวตามปกติ

ช่วงที่ผ่านมาสหรัฐนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง และสิ่งมีชีวิต/ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต 

ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐอาจทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐมากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็ง - แปรรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียม ของใช้ในบ้าน และสำนักงาน คงได้รับผลกระทบบ้าง แต่การขยายตัวของส่งออกไปทั่วโลกจะดีขึ้น และภาพรวมของการส่งออกไปสหรัฐและจีนจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่สูงขึ้นในปีหน้า 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเฟสแรกบางส่วนที่ตกลงกันได้ เราก็ต้องคอยติดตามการบังคับใช้ด้วยว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะบางเรื่องก็ปฏิบัติค่อนข้างยาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐของจีน การจำกัดการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีเพราะขัดกับยุทธศาสตร์จีนที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่จีนเองมียุทธศาสตร์ใหญ่ AI 2030

ส่วนความคืบหน้าในการเจรจาขั้นต่อไปหรือเฟส 2 นั้น คงใช้เวลานานทีเดียว เพราะหลายประเด็นจะเป็นเรื่องปฏิบัติยากและเสมือนจะไปก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยด้านเศรษฐกิจของจีน ส่วนข้อตกลงบางส่วนที่ทำไป รัฐบาลสหรัฐอาจไม่พอใจในการบังคับใช้ข้อตกลง อาจยกเลิกและกลับมาขึ้นภาษีในสินค้านำเข้า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ตามเดิมก็ได้ หรือจีนอาจทบทวนข้อตกลงก็ได้เมื่อเห็นว่าตัวเองเสียประโยชน์ ดีลการค้าเฟสแรกนี้หากดูโดยภาพรวมถือว่าจีนได้ประโยชน์มากกว่า

แนวโน้มปีหน้า ปัจจัยภายนอกจะเป็นบวกมากขึ้น แต่ปัจจัยภายในโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมืองอันเกิดจากการไม่ยึดหลักนิติรัฐ และนิติธรรมอาจส่งผลสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นของภาคการลงทุนและทำให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองได้ ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะหักล้างปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลกและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกได้

วิกฤตรุนแรงทางการเมืองจะไม่มีทางเกิดขึ้นตราบเท่าที่ผู้มีอำนาจไม่ใช้กำลังต่อประชาชน ความรุนแรงและวิกฤตทางการเมืองหลายครั้งจนถึงขั้นเลือดตกยางออกจะเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของผู้ถืออำนาจรัฐเสมอ

สิทธิประโยชน์ทางภาษี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างแรงงาน สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่วนแบ่งมูลค่าส่งออกในตลาดโลก ความยากง่ายในการทำธุรกิจของภูมิภาคอาเซียน โดยภาพรวมก็อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ไทยนั้นจะมีการปัญหาเรื่อง Rule of Law และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เพราะประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด แนวโน้มล่าสุด บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายยังพิจารณาย้ายฐานโรงงานผลิตกลับไปยังประเทศที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิต ข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงถูกจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการดึงดูดการลงทุนอีกต่อไป การมีระบบกฎหมาย ระบบการเมืองที่มั่นคง นโยบายที่คงเส้นคงวาสำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน