เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (3)

เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร (3)

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงผลการวิจัยของ Framingham Heart Study ซึ่งผูกโยงเรื่องของความดันโลหิตกับการเป็นโรคสมองเสื่อม

กล่าวคือการที่อัตราการเป็นโรคสมองเสื่อม (ในกลุ่มผู้สูงอายุที่นักวิจัยติดตาม) ลดลงไปได้ถึง 44% ในช่วง 1997-1983 กับช่วง 2004-2008 เป็นผลมาจากการดูแลสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด (cardio vascular health) ซึ่งในครั้งนี้ผมจะขอนำเอาข้อมูลของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association หรือ AA) ที่แจกแจงโรคสมองเสื่อมประเภทต่างๆ มาเปรียบเทียบให้ดูว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

AA กล่าวถึงโรคสมองเสื่อม 8 ประเภท ซึ่งโรคสมองเสื่อมที่เป็นกันมากที่สุดคือโรคอัลไซเมอร์ (ประมาณ 60-80% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด) แต่ก็มีการผสมผสานอาการของโรคสมองเสื่อมประเภทต่างๆ ซึ่งผมมีข้อสังเกตว่าอาการสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองอุดตัน (vascular dementia) มีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การเป็นโรคอัลไซเมอร์

การเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นเท่าที่ทราบจากงานวิจัยมาจนถึงทุกวันนี้ สรุปว่าเป็นผลมาจากการก่อตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของโปรตีนที่เรียกว่า beta amyloid ที่รอบนอกของเซลล์สมอง (neurons) เสมือนกับการก่อตัวของหินปูน(plaque) และการพันตัว(tangles) ของโปรตีนที่เรียกว่า เตา” (tau proteins) ภายในเซลล์สมองและขยายไปกับเครือข่ายการสื่อสารของเซลล์สมอง (synapses) จนกระทั่งการทำงานประสานกันของเซลล์สมองเสื่อมสภาพและสูญเสียไปในที่สุด

เปลือกสมอง (cerebral cortex) จะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดการหดตัวและการสูญเสียของเนื้อสมองด้านนอกของสมอง ซึ่งทำหน้าที่ที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บและการเรียกคืนความทรงจำ ตลอดจนการคำนวณวางแผนและประมวลความคิดที่ซับซ้อน ปัญหาสำคัญคือเมื่อเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะเบื้องต้นจะไม่มีอาการ เพราะสมองจะมีระบบทดแทนส่วนที่เสียหายไปได้ในระยะหนึ่งเป็นเวลาหลายปี ในบางกรณีกล่าวว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปีจึงจะพบอาการอัลไซเมอร์และยาตำรับต่างๆ ที่คิดค้นมาเพื่อรักษาโรคอับไซเมอร์นั้น มักจะมุ่งเน้นการทำลายคราบ (plaque) ของ beta amyloid และการพันตัวของเส้นโปรตีนเตา (Tau) แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้แม้จะสามารถกำจัดโปรตีนดังกล่าวจากสมอง ทั้งนี้มีการเปรียบเทียบว่ายาดังกล่าวเสมือนกับการไปดับไฟโดยการทำลายตลับไม้ขีดไฟ หลังจากที่ป่าถูกไฟเผาไปหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นป้องกันและดูแลสุขภาพของสมองให้ดีอยู่เสมอ ตลอดจนการตรวจเพื่อให้พบโรคดังกล่าวได้ในโอกาสแรก

สมองของมนุษย์นั้นมีเซลล์สมองทั้งหมดประมาณ 100,000 ล้านเซลล์ แต่ละเซลล์จะมีกิ่งก้าน (branching extensions) ที่ปลายก้านจะมีปม synapses ที่สื่อสารกับเซลล์อื่นๆ เป็นระบบเครือข่าย โดยสมองมี synapses ทั้งสิ้น 100 ล้านล้านปม ดังนั้นโรคสมองเสื่อมคือการที่ระบบสื่อสารของเซลล์สมองเสื่อมถอยหรือเสื่อมสภาพลง ทั้งนี้หินปูน beta amyloid นั้นมีบทบาทในการทำให้เซลล์สมองตายและการพันตัวของโปรตีนเตานั้นปิดกั้นมิให้สารอาหารสามารถเข้าไปเลี้ยงดูเซลล์สมองได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น beta amyloid และโปรตีนเตายังกระตุ้นระบบภูมอคุ้มกันของสมองเรียกว่า microglia ให้ต้องทำงานหนัก ซึ่งเมื่อ microglia รับภาระไม่ไหวก็จะนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังของสมอง (chronic inflammation) และในที่สุดก็จะทำให้เนื้อสมองตายและปริมาณของเนื้อสมองลดลง (atrophy) ซึ่งจะทำให้สมองไม่สามารถนำเอากลูโคส (หรือน้ำตาล) มาเผาผลาญเพื่อใช้เป็นสารอาหารเลี้ยงสมองได้ในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าโรคสมองเสื่อมก็คือการอดตายอย่างช้าๆ ของสมองนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ก็อาจสรุปได้ว่าปัจจัยพื้นฐานในการดูแลสมองก็คือการให้มีสารอาหารและออกซิเจนในเลือดแดงที่เพียงพอต่อความต้องการของสมอง ซึ่งเว็บ honestdoc กล่าวสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“สมองก็เหมือนกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายที่จำเป็นต้องได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม ถ้าเลือดที่ไปเลี้ยงสมองถูกจำกัดหรือขาดเลือดเนื่องจากเส้นเลือดอุดตัน จะทำให้เซลล์สมองตายและทำให้เกิดความเสียหายกับสมอง ถ้าเส้นเลือดในสมองแคบลงและแข็งขึ้น จะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองค่อยๆ ลดปริมาณลง เส้นเลือดในสมองจะแคบลงและแข็งตัวมากขึ้นอันเนื่องมาจากการสะสมของไขมันที่ผนังของเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแคบลงและเลือดไหลเวียนได้จำกัด โดยภาษาทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) โดยจะพบมากในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่สูบบุหรี่”

แปลว่าหากรักสมองก็จะต้องไม่สูบบุหรี่และควบคุมไม่ให้เป็นโรคความดันและโรคเบาหวาน ซึ่งในส่วนของโรคเบาหวานนั้น อาจมีข้อสงสัยว่าเมื่อบอกว่าสมองต้องใช้พลังงานมากคือต้องใช้กลูโคสหรือน้ำตาลมาก แล้วทำไมจึงไม่ควรกินน้ำตาลให้มากเพียงพอที่จะไปเลี้ยงสมอง? คำตอบคือเมื่อกินน้ำตาลมาก โดยเฉพาะน้ำตาลที่เข้าไปสู่เส้นเลือดโดยรวดเร็ว เช่น น้ำหวาน ก็จะทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักโดยการฉีดอินซูลินออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อเป็น “กุญแจ” เปิดประตูของผนังเซลล์ให้นำเอาน้ำตาลออกจากเลือดเข้าไปสู่เซลล์เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด แต่หากกินน้ำตาลมากอย่างพร่ำเพรื่อก็จะเสี่ยงกับการทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินชำรุด ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอหรือเซลล์ดื้ออินซูลิน กล่าวคืออินซูลินไขกุญแจแล้ว ประตูของเซลล์ไม่เปิด ทำให้น้ำตาลค้างอยู่ในเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดแข็งและเส้นเลือดตาย กล่าวคือเป็นโรคเบาหวานนั่นเองน