ทำน้อยแต่ได้มาก

ทำน้อยแต่ได้มาก

ใกล้สิ้นปีแล้ว เป็นโอกาสที่จะทบทวนสิ่งที่ผ่านและเรื่องหนึ่งที่มักจะไม่ค่อยได้รับการทบทวนคือเรื่องพฤติกรรมในการทำงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้เวลาในการทำงาน บางท่านอาจจะให้ความสำคัญและทุ่มเทกับงานเลยโหมทำงานอย่างหนักตลอดเวลา ประเภททำแต่งานอย่างเดียวติดต่อกัน 8-10 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ได้พักเลย ขณะเดียวกันบางท่านอาจจะเป็นพวกทำงานหนักบ้าง พักบ้างสลับกันไป เคยสังเกตบ้างไหมว่าระหว่างพวกที่โหมทำงานหนักกับพวกที่มีพักบ้าง อยู่นิ่งๆ บ้าง การทำงานลักษณะไหนที่จะเกิดผลออกมาดีกว่ากัน?

แรกสุดอวัยวะที่ได้รับผลจากการทำงานมากที่สุดคือสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด วิเคราะห์ สมาธิเยอะๆ เรามักจะคิดว่าสมองเป็นอวัยวะที่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ได้หยุดพัก แต่จริงๆ แล้วสมองเราก็เป็นก้อนเนื้อคล้ายๆ กล้ามเนื้อทั่วๆ ไป และลองนึกภาพดูว่าถ้าเราต้องออกกำลังกายอย่างการวิดพื้นเป็นจำนวน 1,000 ครั้ง วิธีการที่ดีที่สุดคือวิดพื้นเป็นยกๆ เช่น ครั้งละ 50 แล้วหยุดพัก จากนั้นค่อยทำต่อ เพราะฉะนั้นการใช้งานสมองก็เหมือนกัน และยิ่งใช้งานสมองอย่างหนักและต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก แทนท่ีจะดีต่อสมองกลับยิ่งส่งผลเสีย

มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าคนที่ทำงานอย่างยาวนานมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 40 ขณะที่ผู้ที่ทำงานนานกว่า 11 ชั่วโมงต่อวันมีโอกาสมากกว่าปกติถึง 2.5 ในการเป็นโรคซึมเศร้าและหดหู่ นอกเหนือจากเวลาในการทำงานที่ยาวนานแล้ว การทำงานโดยขาดการพักผ่อนหรือพักร้อนก็ส่งผลเสียเช่นเดียวกัน มีการศึกษากลุ่มนักธุรกิจในยุโรปเป็นเวลายาวนานกว่า 26 ปี และพบว่านักธุรกิจที่ใช้เวลาในการพักร้อนน้อยกว่าเพื่อนร่วมอาชีพในช่วงวัยกลางคน จะมีสุขภาพที่แย่กว่าและเสียชีวิตเร็วกว่าเมื่ออายุมากขึ้น

พบว่าการทำงานที่น้อยอาจจะส่งผลดีกว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องและยาวนานโดยไม่ได้หยุดพัก ในอดีตยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เวลาในการทำงานทั่วไปนั้นจะอยู่ที่วันละ 10-16 ชั่วโมง จนกระทั่ง Ford เป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลองเปลี่ยนเวลาการทำงานเป็นวันละ 8 ชั่วโมง และพบว่าเมื่อเทียบต่อชั่วโมงแล้วพนักงานจะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และภายในระยะเวลา 2 ปีกำไรก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าด้วย

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศเริ่มมีการทดลองลดเวลาในการทำงานให้สั้นลง เช่นที่สวีเดนได้ทดลองลดเวลาในการทำงานลงเหลือเพียงแค่ 6 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่าคนมีทั้งสุขภาพและผลิตภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าสำหรับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวนชั่วโมงในการทำงานที่เหมาะสมที่สุดต่อการทำงานของสมองคือ 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นอกจากทำงานน้อยลงแล้ว การได้พักเป็นระยะๆ แบบ นั่งนิ่งๆ เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง เป็นระยะๆ กลับส่งผลดีต่อความสามารถในการทำงานและผลผลิตด้วยซ้ำ มีส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า Default-mode network (DMN) ที่จะถูกกระตุ้นขึ้นมาเมื่อเราไม่ทำอะไร หรือ เมื่อมองคนอื่น (ลองจินตนาการนั่งที่ร้านกาแฟแล้วมองดูคนเดินผ่านไปผ่านมา) หรือ เมื่อคิดเกี่ยวกับตนเอง โดยการทำงานของเจ้า DMN นั้นจะส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการคิดไปในอนาคต

ยังมีการพบว่า DMN จะถูกกระตุ้นขึ้นมาเมื่อเราทำการคิดเชื่อมโยงและคิดในส่ิงใหม่ๆ ขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายๆ คนจึงมักจะสามารถคิดในสิ่งใหม่ๆ หรือเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เมื่อเราผ่อนคลายที่สุด เช่น ขณะที่กำลังอาบน้ำ เหมือน Archimedes ที่ค้นพบและร้องยูเรก้าออกมาเมื่อกำลังจะลงไปในอ่างน้ำ

ดังนั้นการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญแต่จะต้องทำงานอย่างฉลาด ไม่ใช่ทำงานแบบยาวนาน อึดและถึก ซึ่งแทนที่จะส่งผลดีกลับส่งผลร้าย ขณะเดียวกันการได้พัก หรือ พักผ่อนกลับส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพ ผลผลิตของงาน รวมถึงความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ๆ ออกมา เสมือนกับการทำน้อยแต่ได้มากนั้นเอง