เศรษฐกิจสร้างสรรค์: จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจสร้างสรรค์: จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็งเป็นเรื่องที่จำเป็น

เพราะหากภาคเศรษฐกิจมีปัญหา การพัฒนาด้านอื่นก็เป็นไปได้ยาก ประเทศต่างๆ จึงพยายามหาแนวทางและเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยในการพัฒนาประเทศให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง และจากการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าปัจจุบันเป็นยุคแห่งนวัตกรรม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงพยายามผลักดันนโยบายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนผ่านการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะที่เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Tech) ดังจะเห็นได้จากการส่งเสริมของภาครัฐและกระแสการเกิด Startup ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

การเพิ่มขีดความสามารถผ่านนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาประเทศผ่านนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีได้นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากยังขาดความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยและพัฒนาและทรัพยากรมนุษย์ที่จะรองรับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ดี การพัฒนานวัตกรรมไม่ได้มีเพียงแค่ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมด้านอื่นๆ เช่น นวัตกรรมด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านวัฒนธรรมด้วย

หากพิจารณาถึงจุดเด่นของประเทศไทยและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่มีอยู่จะเห็นว่า จุดเด่นสำคัญที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปของเรา ได้แก่ จุดเด่นที่เกิดจากการได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น High Touch เนื่องจากประเทศไทยมีทุนทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อาหารการกินที่อร่อยและหลากหลาย ศิลปหัตถกรรมที่ละเอียด ประณีต ซึ่งเราสามารถใช้นวัตกรรมด้านต่างๆ มาสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของจุดเด่นที่เป็น High Touch ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเหล่านี้ให้สูงขึ้นได้ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คืออะไร

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นิยามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ว่าเป็น “การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดย สศช. ได้กำหนดขอบเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเพื่อใช้ในการวัดขนาดทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสะท้อนถึงความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยไว้เป็น 15 อุตสาหกรรม (12 อุตสาหกรรมในภาคการผลิต และ 3  อุตสาหกรรมในภาคบริการ) ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ การโฆษณา การออกแบบ การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทยการแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างไร

ที่ผ่านมาถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เท่าใดนัก แต่จากรายงานประมวลผลมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จำแนกตามสาขาการผลิต และข้อมูลจำนวนแรงงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2553 – 2559 อัตราการเจริญเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ย (Compound Average Growth Rate) ของมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่ที่ร้อยละ 5.61 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ยของ GDP ที่เท่ากับร้อยละ 5.24 และในปี 2560 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ณ ราคาประจำปี มีมูลค่าเท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.09 ของ GDP

โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดเมื่อเทียบกับมูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ร้อยละ 25.77) รองลงมาได้แก่ อาหารไทย (ร้อยละ 19.35) การโฆษณา (ร้อยละ 14.17) และแฟชั่น (ร้อยละ 13.17) ซึ่งเป็นที่น่าคิดว่า หากประเทศไทยมีการลงทุนในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ก็น่าจะเพิ่มโอกาสในการเติบโตของประเทศได้อีกมาก

หากพิจารณาถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยที่จะสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ อุตสาหกรรมการแพร่ภาพและกระจายเสียงเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ในปี 2561 ภาคเอกชนสามารถส่งออกละครไทยได้มากกว่า 100 เรื่อง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็มีศักยภาพค่อนข้างสูง โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงแฟชั่นแบรนด์ไทยหลายแบรนด์ก็โด่งดังในต่างประเทศ อาทิ ASAVA, Disaya, Sretsis และ BOYY ในปี 2561 การส่งออกสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มีมูลค่าสูงถึง 3.8 แสนล้านบาท นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารไทยก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้สูง เนื่องจากเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ต้มยํากุ้ง ส้มตํา และมัสมั่น ได้รับการจัดให้เป็นเมนูระดับโลกโดย CNN

จากการที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยมีหลากหลายสาขา ทั้งที่เป็นสาขาอาชีพเฉพาะทางหรือสาขาที่สามารถช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้  นอกเหนือจากการส่งเสริมและพัฒนาเป็นรายสาขาตามที่จำแนกโดย สศช. แล้วยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาในแบบองค์รวมให้สามารถแทรกซึมเข้าไปใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมด้วย จึงจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างทวีคูณ

นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แข็งแกร่งยังเป็นการเพิ่มความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นอีกด้วย ซึ่งในอนาคตจะช่วยรองรับกำลังแรงงาน 30 ล้านคนที่อยู่ปัจจุบันในภาคการเกษตร แต่ต้องโยกย้ายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้การทำการเกษตร การทำ Smart Farming และเกษตรแปลงใหญ่ ให้มีงานทำอีกด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องอาศัยความเชื่อมโยงกันของทุกภาคส่วน ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้น โดยได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency หรือ CEA) ขึ้นในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่สมดุลและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการและกำลังแรงงาน การสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม ที่จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิตจริง

ประเทศไทยมีจุดเด่นทางวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย ขณะนี้ โอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ตรงหน้าของเราทุกคนแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเราว่า จะสามารถร่วมมือกันนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือในการคว้าโอกาสตรงหน้าเพื่อติดปีกการพัฒนาให้กับประเทศได้สำเร็จหรือไม่ อย่างไร

โดย...

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

รานี อิฐรัตน์

สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

สถาบันอนาคตไทยศึกษา
Facebook.com/thailandfuturefoundation