หมุนตามโลก

หมุนตามโลก

คนที่จับกระแสได้ถูกที่ถูกเวลามีโอกาสสำเร็จสูงที่สุด

สำหรับคนไอทีข่าวความสำเร็จของเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา อาจก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น หากเทคโนโลยีดังกล่าวแพร่หลายโดยเฉพาะในตลาดคอมพิวเตอร์สำหรับองค์กร 

เพราะความต้องการพลังในการประมวลผลเพิ่มขึ้นจากกระแสความนิยมไอโอที บิ๊กดาต้า และเอไอ จะทำให้องค์กรธุรกิจสนใจลงทุนในคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควอนตัมคอมพิวติ้งจึงเป็นคำตอบที่มาได้ถูกจังหวะเวลามากที่สุด

แต่ประเด็นสำคัญที่อยากนำเสนอใน Think out of The Box วันนี้ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีควอนตัมหากแต่เป็นความไม่แน่นอนของโลกดิจิทัลที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เราจึงเห็นการเกิดและดับของธุรกิจต่างๆ มากมายเป็นวัฏจักร

หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่แทบจะไม่มีใครได้ยินชื่อแล้วในทุกวันนี้อย่างยาฮู ก็เคยก้าวถึงจุดสูงสุด ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญในฐานะผู้ก่อตั้งเสิร์จเอนจิ้นที่ดีที่สุดในอดีต แต่วันนี้เรากลับนึกถึงแต่กูเกิล โดยมีไม่กี่คนที่จำได้ว่าวันที่รุ่งเรืองที่สุดของยาฮูนั้น กูเกิลเพิ่งก็ตั้งขึ้นมาโดยไม่มีท่าทีว่าจะเข้ามาแทนยาฮูได้เลย

มาถึงวันนี้เราอาจคุ้นเคยกับวิถีชีวิตที่เปิดรับเอาโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง จนเราใช้เวลาวันละหลายๆ ชั่วโมงเพื่อติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของผู้คนทั่วโลก ในขณะที่เราลดเวลาการรับข่าวสารจากช่องทางเดิม เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มากเพียงใด เราก็ยิ่งให้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้นแทนที่

สำหรับคนวัย 25 ปีขึ้นไปจะพบว่า เวลาที่ใช้กับเฟซบุ๊คเริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชากรในวัย 25-30 ปีนิยมใช้โซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ้คเป็นหลัก ซึ่งอิทธิพลของมันก็มีมากพอที่จะใช้สื่อสารทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราจะเห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุด ที่มีการใช้เทคโนโลยีอนาไลติกส์วิเคราะห์ข้อมูลและใช้การโจมตีผ่านโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊ค จนทรัมป์สามารถเฉือนเขาชนะคลินตันได้สำเร็จ

เฟซบุ๊คจึงมีสถานะในการใช้งานเพื่อสร้างข่าวเป็นประเด็นหลัก เพราะตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการเสพสาระด้านข่าวสารต่างๆ กลุ่มลูกค้าของเฟซบุ๊คในวันนี้ จึงเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มาใช้สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแทนสื่อแบบเดิม

แต่ในเวลาเดียวกัน ระหว่างที่เฟซบุ๊คกำลังเติบโตในกลุ่มผู้ใหญ่ โซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมรองลงมาอย่างอินสตาแกรมกลับเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรวัย 18-25 ปีที่นิยมสื่อสารด้วยภาพถ่ายและวีดิโอ

การใช้อินสตาแกรมดูจะตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ดีที่สุดเพราะไม่ชอบข่าวสารที่ยืดยาว และไม่ชอบเขียนความคิดออกมาเป็นตัวอักษร การใช้รูปภาพและวีดิโอจึงสื่อสารได้ดีกว่ามากในมุมมองของวัยรุ่นเหล่านี้ การใช้โซเชียลมีเดียของคน 2 กลุ่มหลักๆ นี้จึงต่างกันโดยสิ้นเชิง

ความเป็นไปของเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม อาจเป็นเหมือนยาฮูกับกูเกิลก็เป็นไปได้ เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ยักษ์ใหญ่ในโลกไอทีอาจไม่ใช่กูเกิล ไม่ใช่เฟซบุ๊ค แต่อาจเปลี่ยนเป็นอินสตาแกรมหรือบริษัทอื่นๆ ที่เพิ่งก่อตั้งในวันนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น

เพราะตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่จะสามารถเป็นผู้ชนะได้ตลอด แต่วัฏจักรธุรกิจที่เกิดขึ้นจะสร้างกระแสความนิยมบางอย่างขึ้น และคนที่จับกระแสเหล่านั้นได้ถูกที่ถูกเวลาและใช้มันให้เป็นประโยชน์ทางธุรกิจกับตัวเองให้มากที่สุดจึงจะมีโอกาสสำเร็จสูงที่สุด

ระบบนิเวศทางธุรกิจจึงมีการปรับตัวเองเพื่อสร้างสมดุลอยู่ตลอดเวลา เราจึงไม่อาจยึดติดกับหน้าที่เดิมที่ทำมานานหลายปี หรือยึดติดกับธุรกิจเดิมๆ ที่เคยสร้างกำไรมายาวนานนับสิบปีเพราะโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน 

การหมุนไปตามโลก โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะทำให้เราปรับตัวเข้ากับกระแสใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา