น้ำเสีย: จ่ายแพงไม่ว่า แต่จ่ายแล้วไม่ได้ผล นี่สิต้องแก้ไข

น้ำเสีย: จ่ายแพงไม่ว่า แต่จ่ายแล้วไม่ได้ผล นี่สิต้องแก้ไข

เรื่องที่จะเขียนใน 2-3 ย่อหน้าต่อไปนี้เป็นเรื่องสมมุตินะครับ

สมมติว่านาย ก. เป็นนักธุรกิจทำหมู่บ้านจัดสรรขาย และที่ดินที่นาย ก.จะทำหมู่บ้านจัดสรรขายนี้อยู่กลางทุ่งนา นาย ก.จึงต้องทำถนนของโครงการจากหมู่บ้านจัดสรรผ่านทุ่งนาไปเชื่อมต่อกับถนนใหญ่ของเทศบาล ซึ่งที่นาย ก.ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น นอกจากจะไม่มีใครมาซื้อบ้านแล้ว ทางการก็จะไม่ออกใบอนุญาตสร้างหมู่บ้านจัดสรรนี้ และโครงการนี้ก็ไปไม่รอด

สมมติต่ออีกว่า มีอีกบริษัทของนาย ข. มาทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรขายบนที่นาแถบนั้นเช่นกัน แต่ที่นาแปลงของนาย ข. มีถนนซอยที่มีอยู่แล้วของเทศบาลอยู่ติดกับแปลงนาของนาย ข. และถนนซอยนี้ก็ไปเชื่อมต่อกับถนนใหญ่อยู่แล้วเช่นกันด้วย ดังนั้นนาย ข. ย่อมไม่ควรต้องสร้างถนนของโครงการฯคู่ขนานไปกับถนนซอยของเทศบาล เพื่อไปเชื่อมต่อถนนใหญ่อีก เพราะไม่รู้จะทำไปทำไมให้ซ้ำซ้อน ในเมื่อถนนซอยมีมาให้ใช้อยู่แล้วเห็นๆ

สมมติต่อไปอีกขั้นว่า บังเอิญมีกฎหมายแปลกๆ ของอีกหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลางบอกว่าอย่างไรเสีย นาย ข. ก็ต้องทำถนนโครงการ ไปเชื่อมกับถนนใหญ่ของเทศบาลอยู่ดี ไม่ว่าเทศบาลจะมีถนนซอยอยู่ที่หน้าโครงการของนาย ข. แล้วหรือไม่ก็ตาม และนาย ข. มีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาถนนโครงการนั้นให้ใช้ได้ดีตลอดไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้นายข.จะทำอย่างไรต่อไป? นาย ข.จะไปทำอะไรได้นอกจากต้องสร้างถนนของโครงการไปเชื่อมต่อกับถนนใหญ่ของเทศบาลและต้องบำรุงรักษาถนนนั้นต่อไปด้วย จนกว่าจะมีนิติบุคคลมารับช่วงความรับผิดชอบนั้นๆ ไป เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็ต้องล้มเลิกโครงการ แต่ถ้านาย ข. คิดคำนวณโดยรอบคอบแล้วเห็นว่ายังมีกำไร นาย ข. ก็ต้องสร้างถนนโครงการฯ ไปเชื่อมต่อถนนใหญ่ของเทศบาลตามกฎหมาย(สมมติ)นี้ แม้ว่างบโครงการฯจะบานปลายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นก็ตาม

กฎหมายสมมุติแปลกๆ แบบนี้คงไม่มีใครทำ หรือแม้กระทั่งคิดจะทำ ใครก็ตามที่มีเหตุผลดีและวิเคราะห์เป็นก็คงคิดเช่นนั้น แต่ขอบอกเลยนะคะ(ครับ)ว่า ใครๆ คนนั้นกำลังเข้าใจผิด เพราะกฎหมายแปลกๆ แบบนั้นมีค่ะ(ครับ) มีในประเทศไทยนี่แหละ

ต่อไปนี้จึงไม่ใช่เรื่องสมมุติอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องจริงที่น่าฉงนทีเดียว นั่นคือกฎหมายว่าด้วยการบำบัดน้ำเสียของอาคารขนาดใหญ่ประเภทต่างๆที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขออนุมัติจากทางการ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการโฆษณาขายโครงการฯได้ สำหรับเรื่องนี้มีกฎหมายที่ต่างระดับศักดิ์จากต่างกระทรวงกัน คือ(1) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่จะขอเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35 และ (2) กฎกระทรวง(ฉบับที่ 44 พ.ศ.2538 และ 51 พ.ศ.2541)ที่ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทยที่จะขอเรียกสั้นๆในที่นี้ว่า กฎกระทรวง มท.ว่าด้วยน้ำเสีย-น้ำทิ้ง

ในพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35 กฎหมายกำหนดไว้ว่าหากมีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนของส่วนกลาง เช่น ของเทศบาลอยู่แล้ว ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร หรือโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัย หรือโรงพยาบาล หรือศูนย์การค้า ฯลฯ ผู้ประกอบการสามารถที่จะส่งน้ำเสียจากกิจกรรมของตนไปบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสียศูนย์กลางของเทศบาลได้ โดยไม่ต้องจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียประจำโครงการฯเป็นของตนเอง

ทว่าในกฏกระทรวงว่าด้วยน้ำเสีย-น้ำทิ้งซึ่งเป็นกฎหมายที่ต่ำศักดิ์กว่าพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม กลับกำหนดให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียของตนเอง รวมทั้งต้องบำบัดหรือทำความสะอาดน้ำเสียจนได้น้ำทิ้งที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับนั้นอย่างต่อเนื่อง และตลอดไปด้วย มิฉะนั้นจะไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ซึ่งการณ์นี้เปรียบเสมือนกับการสร้างถนนของโครงการฯซ้ำซ้อนกับถนนซอยของเทศบาลอย่างขาดเหตุผลรองรับอย่างเพียงพอ ดังเรื่องสมมุติที่กล่าวมาแต่ต้น

การทำงานแบบซ้ำซ้อนนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมมติหรือเรื่องจริงอย่างที่เล่าให้ฟัง ล้วนเป็นการทำงานที่สิ้นเปลืองทั้งงบลงทุน การใช้ทรัพยากร และการบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น นายข.ต้องเสียงบประมาณในการสร้างถนนโครงการฯ ต้องซ่อมถนนนั้นให้อยู่ในสภาพดีใช้งานได้ตลอดเวลาตามที่กฎหมาย(สมมุติ)นั้นบ่งไว้ ซึ่งเทียบเท่ากับการที่เจ้าของโครงการคอนโดมิเนียม ตลาด หอพัก ศูนย์การค้า โรงแรม ฯลฯ ต้องสร้างระบบบำบัดน้ำเสียของตัวเองและต้องเดินระบบบำบัดน้ำเสียนั้นๆให้ใช้งานได้ตลอดเวลาและตลอดไป ทั้งที่มีระบบบำบัดศูนย์กลางที่ผู้ประกอบการสามารถส่งน้ำเสียไปบำบัดโดยจ่ายค่าบำบัดตามข้อกำหนดของราชการได้อยู่แล้ว

การทำระบบซ้ำซ้อนเช่นนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องมีคนแบกรับเพราะของฟรีไม่มีในโลก และใครล่ะที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ควรจ่ายนี้ ถ้าไม่ใช่ประชาชนผู้บริโภค นอกจากนี้ หากมีผู้ประกอบการโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ สมมติว่า 5,000 รายในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร นั่นหมายถึงจะมีระบบบำบัดน้ำเสียประจำอาคารเพิ่มอีก 5,000 แห่งนอกเหนือจากระบบบำบัดศูนย์กลางของเทศบาลที่มีอยู่แล้ว และนั่นหมายถึงมีจุดที่ต้องไปตรวจตามเฝ้าระวังว่าระบบบำบัดฯทำงานได้ดี และถูกต้องตามกฎหมายตลอดปีทุกปี หรือไม่อีก 5 พันจุด แทนที่จะตรวจสอบเพียงที่จุดเดียว คือ ที่ระบบบำบัดศูนย์กลางของเทศบาล นั่นเป็นภาระงานมหาศาลที่ดูอย่างไรก็ไม่เห็นทางว่าหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบกำกับดูแลงานนี้จะมีขีดความสามารถรองรับได้ ซึ่งนั่นคือระบบบำบัดฯจะมีก็มีไป จะเดินเครื่องหรือไม่เดินก็ยากที่จะตรวจสอบติดตามให้ได้ผลจริง งานที่ทำมาทั้งหมดแม้จะมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองอย่างไรก็ไม่สามารถบรรลุผลตามเจตนารมณ์ และสิ่งแวดล้อมของเราก็จะไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม

แล้วทางแก้คืออะไร

เรารู้แล้วว่าทุกข์คืออะไร(งานนี้ไม่สำเร็จตามประสงค์ ประชาชนเดือดร้อนต้องมีค่าใช้จ่ายเกินจริง คุณภาพสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้ดีขึ้น ฯลฯ) สมุทัยคืออะไร(ความขัดแย้งของกฎหมายสองฉบับ) และนิโรธคืออะไร(ต้องการให้มีระบบที่ดี ใช้ได้จริง สิ่งแวดล้อมดีขึ้น รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล) ที่เหลือคือมรรคว่าต้องทำอย่างไร มรรคในที่นี้ก็คือการทำให้สมุทัยหมดไป หรือแก้กฎหมายสองฉบับนั้นให้ไม่ขัดแย้งกันนั่นเอง

ถามว่าแล้วควรแก้กฎหมายฉบับใด? พรบ.สิ่งแวดล้อมหรือกฎกระทรวงมท.? ไม่ว่าจะดูในประเด็น (1)ศักดิ์ของกฎหมาย ที่ชัดเจนว่าพรบ.สิ่งแวดล้อมมีศักดิ์เหนือกว่ากฎกระทรวงมหาดไทย หรือ (2)ความสมเหตุสมผล ที่ชัดเจนอีกเช่นกันว่าพรบ.สิ่งแวดล้อมมีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่ากฎกระทรวงดังกล่าว เราจึงอยากที่จะเสนอให้ภาครัฐจัดการแก้กฎกระทรวงมท.ที่ทำความยุ่งยากลำบากใจให้แก่การดำเนินธุรกิจในประเทศเป็นเวลาถึงเกือบ 25 ปีแล้วนี้ ให้ทุกฝ่ายไม่จำเป็นต้องทำงานซ้ำซ้อน และสามารถลดค่าใช้จ่ายของสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้โดยเร็ว

เราขอฝากความหวังนี้ไว้ที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันนี้ค่ะ(ครับ)

โดย... 

ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ม.รามฯ

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ศ.กิตติคุณ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ