สังคมดี ต้องไม่ “บูลลี่”

สังคมดี ต้องไม่ “บูลลี่”

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน คำพูดเปรียบเสมือนดาบสองคม คำพูดที่ดีจะสร้างความรู้สึกที่ดี สร้างพลัง และทัศนคติเชิงบวกให้แก่ผู้ฟัง

ในทางกลับกัน คำพูดที่ไม่ดีก็สามารถทำร้ายความรู้สึก บั่นทอนความมั่นใจ สร้างความหวาดกลัว ความเครียด และหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด จะก่อให้เกิดผลเสียทางร่างกายและสภาพจิตใจหลายด้าน เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตต่างๆ รวมถึงการทำร้ายตนเอง

เราคงเคยได้ยินเรื่องของการล้อเลียน หรือ “การบูลลี่” (Bullying) ซึ่งเป็นการกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ผ่านการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หรือการใช้คำพูดเสียดสี ด่าทอ ถากถาง วิจารณ์เชิงลบ เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความทุกข์ หรือสร้างบาดแผลภายในจิตใจให้แก่ผู้ถูกกระทำ หากปล่อยไว้ในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือการทำร้ายร่างกายตนเองได้ สามารถเกิดขึ้นทั้งที่ในโรงเรียนและในครอบครัว การกระทำเหล่านี้ บางคนเข้าใจและมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถทำได้ เป็นเรื่องสนุกที่ได้ใช้คำพูดวิจารณ์ ล้อปมด้อย หรือรังแกผู้อื่น โดยขาดการไตร่ตรอง และไม่ได้ตระหนักคิด ว่าอาจจะสร้างปมในใจให้แก่ผู้ฟัง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้

ปัญหาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด หรือ BDMS จึงได้จัดงานเสวนา Dek Talk by BDMS ในหัวข้อ "Shared Kindness คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่" เพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาส่งต่อคำพูดที่ดีต่อกันมากขึ้น โดยมีแขกรับเชิญและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การโดนรังแกหรือได้รับการทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านจิตใจ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลเสียของการใช้คำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ และใส่ใจคำพูดของตัวเองต่อคนในสังคมมากขึ้น

นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า มีเด็กถูกรังแกในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล หวาดกลัว ขาดความมั่นใจในตนเอง ประกอบกับมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น มีความผิดปกติในการกิน การนอน และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นไม่อยากไปโรงเรียน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของลูกหลาน หากพบว่าลูกหลานมีอาการผิดปกติไปจากเดิม แนะนำให้ซักถาม ให้กำลังใจ ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ สภาพอารมณ์และความรู้สึกอย่างใกล้ชิด และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี”

ด้าน แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์” ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า “นอกจากการรังแกกันในโรงเรียนที่เด็กๆ ต้องพบเจอแล้ว วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ก็ยังสามารถเผชิญกับปัญหาการโดนทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดเชิงลบได้ ตามสถานที่ทำงาน หรือบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย เราอยากให้มองว่าเรื่องนี้ เป็นปัญหาที่ทุกคนควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนรอบข้างและคนในสังคมมากขึ้น เริ่มต้นจากคำพูดของตัวเรา สู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมไทย”

เพื่อเป็นการรณรงค์ต่อต้านการบูลลี่ BDMS จึงเปิดตัวภาพยนตร์สั้น “ดอกไม้ในคมมีด” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากน้องๆ จาก 4 ชุมชนในกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมไทย ร่วมกันส่งต่อคำพูดดีๆให้กัน โดยมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างสังคมปลอดประทุษวาจา (Hate Speech) ลดการใช้คำพูดเชิงลบที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจผู้อื่น โดยกรมสุขภาพจิตเผยว่า ในปัจจุบันเด็กไทยมีสถิติถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง หรือบูลลี (Bullying) มากถึง 80% และในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ถึง 45% ซึ่งได้สร้างความแตกแยกและความเกลียดชังต่อผู้คนในสังคม

ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในเจตนารมณ์เพื่อรณรงค์การส่งต่อคำพูดที่สร้างสรรค์สู่สังคมไทย ลดการทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยให้น่าอยู่และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน หากใครอยากรับชมภาพยนตร์สั้นดังกล่าว หรือติดตามรายละเอียดโครงการ "Shared Kindness – คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่" สามารถเข้าไปดูได้ที่ Facebook ของมูลนิธิเวชดุสิต https://www.facebook.com/VejdusitFoundation ค่ะ