ลมหนาวมาแล้ว ถึงเวลามีรัฐมนตรีคลายเหงาหรือยัง

ลมหนาวมาแล้ว ถึงเวลามีรัฐมนตรีคลายเหงาหรือยัง

บ้านเราคนเหงายังไม่สำรวจ มีแต่สถิติคนพยายามฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีคนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นโดยยังไม่ได้รับวินิจฉัยและรักษา

แพทย์จิตเวชยืนยันว่าโรคซึมเศร้ารักษาหายได้

สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 1 - 7 พ.ย.กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่าคนไทยที่พยายามฆ่าตัวตายมีมากถึงปีละ 5.3 หมื่นคน เฉลี่ยแล้ว 9.55 นาทีมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน ขณะที่ในทุก 2 ชั่วโมง มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทำให้ในปีหนึ่งมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 คนโดยคนทำไม่สำเร็จก็เป็นธรรมชาติของเขาที่จะพยายามฆ่าตัวตายซ้ำอีก

การฆ่าตัวตายของเยาวชนและคนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุล้วนเป็นการสูญเสียและความเศร้าอย่างยิ่ง

ที่น่าตกใจคือเมื่อดูตัวเลขการตายอย่างผิดธรรมชาติของประชากรไทย พบว่าอันดับหนึ่ง คืออุบัติเหตุ อันดับสองคือ การฆ่าตัวตาย ขณะที่อันดับสาม คือ การฆ่ากันตายจึงเท่ากับว่าการฆ่าตัวตายมีตัวเลขเฉลี่ยที่สูงกว่าการฆ่ากันตาย

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเห็นปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังไม่บูรณาการปัญหานี้เหมือนปัญหาเศรษฐกิจสังคมอื่น ๆ

สโลแกนสวยหรูของนายกรัฐมนตรี เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติปีนี้ "สุขภาพจิตไทย...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่คือขอให้คนไทยหันมาสนใจคนรอบข้าง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพให้ความรู้คำแนะนำในการป้องกันและคำปรึกษาอยู่เป็นฉากหลัง ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปี 2559 ภาคประชาชนโดยสมาคมสายใยครอบครัว ร่วมกับสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต และอีกหลายสมาคมได้เสนอให้บรรจุการเรียนเรื่องโรคทางจิตเวชไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ และทำเรื่องยื่นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(รธน.)เพื่อให้พิจารณาบรรจุไว้ในร่าง รธน. หมวดหน้าที่ของรัฐ

แต่ว่าจริงหรือที่การแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เป็นโจทย์ของก.สาธารณสุขและ ก.ศึกษาฯเท่านั้น วิธีแก้ก็ต้องไปบรรจุไว้ในรธน.ซึ่งบ้านเราร่างเข้าร่างออกยกเลิกและร่างใหม่ไม่หยุดยั้งและทำเป็นหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ

ใครๆ ก็ตอบคำถามนี้ได้ว่าไม่ใช่ แต่วิธีจะทำให้เป็นโจทย์ของทุกกระทรวงภายใต้นโยบายองค์รวม คืออย่างไร

การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาผู้แทนของเราในขณะนี้ให้มีหน้าที่ศึกษาการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตอย่างรอบด้านทำได้เร็วกว่าและอาจเร่งด่วนกว่าการตั้งกมธ.เรื่องแก้ไขรธน.ที่ว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตยเสียอีก

เมื่อปี 2561 คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนอังกฤษเรื่องความเหงาที่ตั้งขึ้นเพื่อสานต่องานของสตรีสมาชิกสภาฯคนหนึ่งคือ โจ คอกซ์ ผู้ถูกมือปืนนิยมขวาจัดยิงเสียชีวิต ขณะเธอกำลังจัดงานลงประชามติเรื่องอังกฤษจะออกจากประชาคมยุโรป (Brexit) ได้สรุปให้สมาชิกสภาฯและสาธารณชนเข้าใจกันง่ายๆว่า "ความเหงามีฤทธิ์ทำลายสุขภาพเท่ากับสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน มีประชากรอังกฤษ 9 ล้านคนกำลังถูกความเหงาคุกคามอยู่ "

อังกฤษมีประชากร 66 ล้านคนพอๆ กับเรา นายกฯ ขณะนั้นนางเทเรซา เมย์ ได้ทำนโยบายแก้ไขปัญหาความเหงาอย่างเป็นองค์รวมมีประเด็นทางสังคมชัดเจน ไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุขกระทรวงเดียว ด้วยการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีดูแลด้านกีฬาและประชาสังคมทำหน้าที่นำการประสานหลายกระทรวงเข้ามาแก้ปัญหาความเหงาที่ถือว่า "...เป็นปัญหาด้านสังคมและสุขภาพสืบเนื่องจากตกอยู่ในความโดดเดี่ยวทางสังคม "

จึงเป็นที่มาของตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีชื่อเต็มว่าMinister of Sport , Civil Society and Loneliness แต่สื่อฯอังกฤษ พากันเรียกสั้นๆ ว่า “รัฐมนตรี(แก้ปัญหา)ความเหงา” (Minister of Loneliness/Loneliness Minister) เก๋ไก๋หนึ่งเดียวในโลก ฮือฮากันมากเมื่อปีกลาย

"สาวหนุ่ม หรือ แก่ ความเหงาไม่เลือกหน้า" (Young or old loneliness does not discriminate.)

นอกจากคุกคามพลเมืองทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่วัยเด็กเช่นเด็กประถมมัธยมถูกกลั่นแกล้งก็ตกอยู่ในความโดดเดี่ยวทางสังคม(social isolation)ได้ ตลอดจนวัยสาวหนุ่มวัยเรียนวัยทำงาน ไม่ใช่เฉพาะแต่กลุ่มผู้สูงอายุหรือว่ากลุ่มผู้ตกงานดังที่อาจเชื่อกัน

คณะกรรมาธิการฯพบว่าความเหงาความโดดเดี่ยวทางสังคมเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ทุกพื้นที่ไม่ว่าที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชนเล็กชุมชนใหญ่ เมืองใหญ่เมืองเล็ก ไม่เฉพาะแต่ในบ้านดังที่อาจเชื่อกัน เพียงแต่หากเป็นที่บ้าน จะมีกลุ่มผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ พบว่ามีคนอังกฤษสูงอายุมากถึง 2 แสนคนที่นานเป็นเดือนไม่ได้คุยสนทนากับเพื่อนหรือญาติเลย

ความเหงาทำให้เกิดโรคทางกายได้ตั้งแต่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ การอักเสบเรื้อรัง กระทั่งสมองเสื่อม สามารภนำพาไปสู่อาการจิตเวชอื่นๆ เช่น จิตปรวนแปร ซึมเศร้า

ในฤดูหนาว ความเหงาจะยิ่งกินลึกมากขึ้นอีกในกลุ่มที่เหงาอยู่แล้วและจะมีคนเหงาเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ หากไม่แก้ไขซึ่งแก้ไม่ยากเพียงมีคนไปหามีเพื่อนก็ช่วยได้มาก ๆ มีกิจกรรมตลอดทั้งปีที่นำพาแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้ออกมาสู่ชุมชน ( ไม่ใช่จัดงานใหญ่ครั้งเดียวต่อปี) จัดให้มีสวนขนาดเล็กอย่างทั่วถึง โดยให้ประชาสังคมท้องถิ่นรวมนายกเทศมนตรี นักการเมือง นักธุรกิจมีส่วนร่วมทั้งการวางแนวทาง ในภาคปฏิบัติและงบประมาณ ไม่จำกัดอยู่แต่ในวงราชการ

กว่าปัญหาสุขภาพจิตจะสะสมถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าโดยเฉพาะความเหงาสามารถตรวจพบได้ รับมือได้ แก้ไขได้ จึงควรเริ่มทำอย่างมีนโยบายองค์รวมแห่งชาติได้แล้ว จัดทำตัวชี้วัดและรายงานความคืบหน้าทุกปี ไม่ใช่ปีหนึ่งจัดงานครั้งเดียวมีแต่สโลแกนเก๋ๆและลมปากขอให้คนไทยเอาใจใส่คนอื่น

ก.คมนาคม(ที่อำนวยให้คนไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น) ก.ศึกษาฯ ก.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การท่องเที่ยวการกีฬาและอื่น ๆที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทำอย่างบูรณาการ ไม่ใช่งานของสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียว.