จากงานวิจัยสู่... แนวทางอนุรักษ์พะยูน ชุมชนเกาะลิบง

จากงานวิจัยสู่...   แนวทางอนุรักษ์พะยูน ชุมชนเกาะลิบง

สถานการณ์พะยูนไทย เริ่มกลับมาวิกฤติหลังพบพะยูนตายเพิ่มขึ้น โดยประมาณการว่าทั้งประเทศไทยมีพะยูนเหลืออยู่ไม่ถึง 200 ตัว

แต่ในช่วงเวลาเพียง 9 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา มีพะยูนตายไปแล้วถึง 21 ตัวรวมถึงการตายของพะยูนน้อย “มาเรียม และยามีล”และยังคงมีข่าวการตายของพะยูนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดข่าวการพบซากพะยูนเกยตื้นบริเวณชายหาดที่เกาะลิบง โดยกระดูกและกล้ามเนื้อบางส่วนของพะยูนสูญหายไป

การลดลงของพะยูนกลายเป็นแรงบันดาลใจของคนในชุมชนเกาะลิบง รวมตัวกันตั้งกลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยง ทำโครงการ “วิจัยแนวทางการอนุรักษ์พะยูนโดยชุมชนเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ตั้งแต่ปี 2558 หลังพบเครื่องมือประมง คือสาเหตุที่ทำให้พะยูนและหญ้าทะเลลดลง จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชนเกาะลิบงที่มีต่อพะยูน และการสำรวจเครื่องมือการทำประมงที่มีอยู่ในชุมชน

157414092089

จากการสำรวจพบ ชาวบ้านส่วนใหญ่ มีความรักความผูกพันกับพะยูน และเห็นด้วยที่จะช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก เช่น บ่อยครั้งที่ชาวบ้านไปพบเห็นพะยูนกินหญ้าเพลินจนกลับลงน้ำไม่ทันหรือถูกคลื่นพัดมาเข้ามาเกยตื้นก็จะช่วยกันพาพะยูนลงน้ำ ส่วนการสำรวจเครื่องมือการทำประมงของชุมชนนั้น ก็เพื่อต้องการรู้ว่าในชุมชนมีเครื่องมือประมงอะไรบ้างที่จะสามารถไปทำอันตรายต่อพะยูน เต่า หรือโลมา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชนแม้จะมีอุปสรรคในช่วงแรก เนื่องจากชาวบ้านกลัวจะไปกระทบวิถีชีวิตการทำมากิน แต่เมื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้วว่ายังหากินได้ตามปกติ เป็นการขอความร่วมมือเรื่องเครื่องมือทำประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย และต้องไม่ทำอันตรายกับพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก หากพบเห็นก็จะทำการกู้เก็บขึ้นมา เนื่องจากเคยเดินลาดตระเวนแล้วไปพบเจอเต่าตายเพราะติดอวน เมื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว จึงนำมาสู่การจัดตั้งกติกาชุมชน

"ชาวบ้านยังมีความเชื่อผิดๆ ในเรื่องของกระดูกพะยูน จึงต้องสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากร พะยูนและสัตว์ทะเลหายากว่าถ้าเราอยากให้พะยูนอยู่คู่กับเกาะลิบง เราทุกคนในชุมชนก็จะต้องรักพะยูนด้วย เพราะเป้าหมายคือ ให้พะยูนอยู่ร่วมกับคนได้และอยากให้ชุมชนของเราเป็นชุมชนเข้มแข็งรักเรื่องของทรัพยากร ถ้าเราจะเป็นชุมชนเข้มแข็งเราก็ต้องเหนื่อยกันหน่อยต้องกล้าสู้ชุมชนเราจึงจะเข้มแข็งได้นั่นหมายถึงเรื่องของความสามัคคี"

สำหรับการทำงานวิจัยนี้ ได้นำกระบวนการวิจัยท้องถิ่นเข้ามาขับเคลื่อนในชุมชน หลังจากทำการสำรวจเก็บข้อมูลชุมชนแล้ว นำมาสู่การจัดทำเวทีประชาคมเพื่อร่วมกันกำหนดกติกาชุมชน ในการที่จะดูแลพะยูนให้อยู่ร่วมกับคนได้และร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนกันอย่างไร จึงเกิดเป็นกติกาชุมชนขึ้น

การลาดตระเวนมักพบเรือประมงต่างถิ่นลักลอบเข้ามาในพื้นที่บ่อยๆ ดังนั้น เมื่อมีการขับเคลื่อนกันภายในชุมชน มีกติกาชุมชนเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปก็จะขอความร่วมมือไปยังชุมชนนอกเกาะลิบง พร้อมเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนพื้นที่อื่นๆ รอบเกาะ ให้รับทราบว่า ปัจจุบันเกาะลิบงมีกติกาชุมชนเกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รอบ หากเข้ามาในพื้นที่รอบเกาะลิบง จะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของชุมชนอย่างไร เช่น

 เรือที่จะเข้ามาในพื้นที่จะต้องชะลอความเร็ว เพราะเกาะลิบงเป็นที่ที่อยู่ของพะยูนอยู่ และขอความร่วมมือกับเรือประมงต่างถิ่นในการใช้เครื่องมือทำประมงจะต้องไม่ผิดกฎหมายและทำให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเลหายาก ทั้งพะยูน เต่า รวมถึงไม่ไปทำลายหญ้าทะเล เน้นใช้วิธีการขอความร่วมมือ หากไม่ฟังหรือทำผิดกติกาชุมชน ก็จะใช้เรื่องของกฎหมายต่อไป

ส่วนกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ยังรวมถึงการฟื้นฟูหญ้าทะเล โดยเฉพาะแนวหญ้าทะเลบริเวณหน้าหาดทุ่งจีน ซึ่งเป็นหญ้าทะเลชนิดที่พะยูนกิน นอกจากยังมีกิจกรรมคือ การสำรวจหญ้าทะเล โดยทุก ๆ 3 เดือน จะมีการวางผังแปลงหญ้าทะเล เพื่อเก็บข้อมูลก่อนและหลัง เพื่อหาสาเหตุหรือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของหญ้าทะเล รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณแนวหญ้าทะเล เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขป้องกันต่อไป 

ในกิจกรรม มีกลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชนที่มีใจรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเข้าร่วมซึ่งจะทำให้มีผู้สืบทอดและสืบสานงานอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลของเกาะลิบงต่อไป

หญ้าทะเลมีรูปแบบที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เราทำได้เพียงดูแลป้องกัน อย่าให้ใครมาทำลาย ไม่เฉพาะหญ้าทะเลชนิดที่พะยูนกิน แต่หญ้าทะเลอื่นๆ ก็มีคุณค่า เช่น หญ้าคาก็มีประโยชน์เป็นที่พักอาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กอื่นๆ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ได้ ดังนั้น เมื่อเราจะเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แม้วันหนึ่งเราจะไม่มีทุนสนับสนุนจากหน่วยงานใด แต่เราก็จะต้องทำได้ และจะต้องทำเป็นประจำ เพราะมันมีความหมาย และความหวังของชุมชนที่จะนำมาซึ่งมีรายได้ที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวและยังสามารถเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ รอบเกาะถ้าชุมชนเราเข้มแข็งได้เช่นนี้  นายสุเทพ ขันชัย หรือ“บังเทพ”  หัวหน้าทีมอาสาพิทักษ์ดุหยงกล่าวถึงความหวังที่อยู่ในใจ

โดย... สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)