ชีวิตเริ่มต้นที่ 50 (หรือไม่?)

ชีวิตเริ่มต้นที่ 50 (หรือไม่?)

ได้เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าในช่วงอายุเท่าใดที่คนจะมีความสุขมากหรือสุขน้อย? คงยากที่จะฟันธงลงไปได้เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันของแต่ละคน

แต่ก็มีงานวิจัยและหนังสือที่ออกมาที่จะพยายามชี้ให้เห็นว่าความสุขในชีวิตคน ตั้งแต่ช่วงเติบโตเป็นผู้ใหญ่(อายุ 20 ปีขึ้นไป) จะเป็นลักษณะตัวอักษรภาษาอังกฤษ คือตัว U นั้นคือ ในช่วงอายุ 20-30 ความสุขจะอยู่ระดับสูงสุด หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ และต่ำสุดในช่วงกลางถึงปลายอายุ 40 แล้วความสุขก็จะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 50 ขึ้นไป และไปถึงจุดสูงสุดช่วง 70-80

ปรากฎการณ์ที่ความสุขในชีวิตเป็นไปในลักษณะของตัว U นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกๆ คน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนโดยเฉลี่ย ซึ่งได้มีการศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควร จนกระทั่ง Jonathan Rauch นำมาเขียนเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งชื่อ The Happiness Curve: Why Life Gets Better After 50

ความสุขที่เอ่อล้นในช่วง 20-30 ปีนั้น ก็มักจะเป็นช่วงที่คน จบการศึกษา เริ่มต้นทำงาน เริ่มต้นสร้างฐานะและครอบครัว ดังนั้นคนในวัยนี้มักจะมองไปในอนาคต และคิดถึงความสนุกสนาน ความท้าทาย สิ่งที่สดใส และความสำเร็จต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามพอล่วงเข้าช่วง 30 ปลายๆ หรือ 40 ต้นๆ ก็เป็นช่วงที่เริ่มมีความมั่นคงในด้านต่างๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ดีในช่วงดังกล่าวแทนที่คนจะมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ กลับจะยิ่งต้องการที่จะขวนขวายที่จะมีมากขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน) แถมเมื่อเข้าสู่ช่วง 40 กลางๆ หรือปลายๆ หลายคนก็จะเข้าสู่ช่วงที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Mid-life crisis ซึ่งจริงๆ แล้วในช่วงที่กราฟความสุขรูปตัว U นั้นมาถึงจุดต่ำสุด อาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญในชีวิตเลย แต่เกิดขึ้นเนื่องจากอารมณ์ ความรู้สึกหรือความคิดที่เปลี่ยนไป

ทีนี้พอเริ่มผ่านพ้นวัย 50 ถึงแม้อาชีพการงาน ครอบครัว หรือ สถานะทางสังคมต่างๆ จะไม่ได้เปลี่ยนไปจากช่วงวัย 40 เลย แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนคือ ทัศนคติ หรือ วิธีคิดของคนที่เปลี่ยนไป อาจจะเป็นเพราะการขึ้นเลข 5 เป็นสัญญาณที่สำคัญว่ากำลังก้าวสู่อีกช่วงหนึ่งของชีวิต ทำให้ค่านิยม วิธีคิดของคนเปลี่ยนไปสิ่งที่เคยยึดถือหรือจริงจังในอดีต จะเริ่มได้รับการปล่อยผ่านไป จะเริ่มไม่คำนึงหรือใส่ใจต่อความคิดของบุคคลอื่นมากเท่าในอดีต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการที่จะขวนขวายหรือแข่งขัน ในเรื่องต่างๆ มากเหมือนในอดีต ซึ่งอาจจะเกิดจากการบรรลุและพิสูจน์ตนเองมาแล้ว หรือ เนื่องจากการปล่อยวางที่มากขึ้น และยิ่งอายุมากขึ้น ก็จะเริ่มเข้าหาศาสนาหรือที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจต่างๆ มากขึ้น

มีงานวิจัยที่สนับสนุนต่อแนวคิดของ U-Shaped Happiness พอสมควร เช่น ในอังกฤษมีการถามมากกว่า 300,000 คน ในช่วงอายุต่างๆ กัน ถึงความพอใจในความสุขในชีวิตที่เป็นอยู่ปัจจุบัน พบว่าความสุขในชีวิตจะสูงในกลุ่มคนอายุ 20-34 ปี ขณะเดียวกันจะต่ำสุดในช่วง 49-50 จากนั้นจะเริ่มค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ และไปถึงจุดสูงสุดในช่วงอายุประมาณ 65 ปี

ในงานวิจัยลักษณะคล้ายกันกับคนกว่า 1 ล้านคน พบว่าความหดหู่และเครียดจะมีมากที่สุดในช่วง 45 วิจัยอีกชิ้นในอเมริกาพบว่าช่วงที่คนจะต้องรับประทานยาลดอาการซึมเศร้าหรือหดหู่สูงสุดคือระหว่างอายุ 45-49 ปี และในงานอีกชิ้นที่สำรวจคนในประเทศต่างๆ พบว่าช่วงต่ำสุดของรูปตัว U ใน 55 จาก 80 ประเทศคือช่วงอายุ 46 ปี

ท่านผู้อ่านลองสำรวจตนเองและบุคคลรอบข้างดูนะครับว่าระดับความสุข เป็นไปตามตัว U หรือไม่? อย่างไรก็ดีแนวคิดนี้ก็ได้ถูกระบุไว้ว่าเป็นเพียง แนวโน้มที่คนโดยทั่วไปจะเป็นไปตามนี้เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นเหมือนกันหมด