ออกแบบนโยบายดีๆ ด้วยกระบวนการ 5D

ออกแบบนโยบายดีๆ ด้วยกระบวนการ 5D

กระบวนการ Policy Lab หรือห้องทดลองนโยบายยังถือเป็นเรื่องที่ใหม่ในสังคมไทย มีแนวโน้มว่ากำลังได้รับความสนใจอย่างสูงจากภาคนโยบายและหน่วยงานรัฐ

ซึ่งกำลังทยอยเปิดพื้นที่การทดลองและร่วมสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายและบริการภาครัฐใหม่ๆ  อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้มีโอกาสร่วมดำเนินการในกิจกรรม Policy Lab ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้หลักสูตรผู้นำนวัตกรรมภาครัฐและเอกชน (PPCIL) รุ่นที่ 1  ซึ่งริเริ่มโดยสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และบริษัทอีเว้นท์ไนน์ มาร์เก็ตติ้ง กิจกรรมนี้มุ่งเน้นให้ผู้นำนวัตกรรมรุ่นใหม่ระดับผู้บริหารจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 50 คนมาทำงานร่วมกันตลอดหลักสูตรเพื่อสร้างต้นแบบ "นวัตกรรมเชิงนโยบาย" (Policy Innovation) และวางเป้าหมายให้สามารถนำไปขับเคลื่อนจริงในทางปฏิบัติ

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้ออกแบบ Policy Lab Workshop ในหลักสูตรนี้โดยใช้กระบวนการ 5D ได้แก่ 1. Diagnosis ค้นหาและวินิจฉัยโจทย์เชิงนโยบาย 2. Discovery เข้าใจประชาชนอย่างลึกซึ้ง 3. Development สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ หรือ Ideation 4. Delivery สร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย และ 5. Demonstration ทดสอบกับประชาชนและสื่อสารนโยบาย

กิจกรรมนี้ได้เริ่มต้นกระบวนการ Diagnosis เพื่อค้นหาและวินิจฉัยโจทย์เชิงนโยบาย โดยทำการแข่งขันประกวดไอเดีย (Pitching) 1 นาทีเพื่อเลือกนโยบาย ปัญหา นวัตกรรมในประเด็นที่น่าสนใจ เริ่มฟอร์มทีมตามความสนใจและความหลากหลายของทีม ทำการระดมสมองถึงความหวังและความกลัว (Hope and Fear) ในประเด็นนโยบายต่างๆ รวมถึงร่วมกันคิดถึงภูมิทัศน์ทางนโยบาย (Policy Landscape) ซึ่งได้แก่ คน ระบบและบริบทของเรื่อง เพื่อให้ทราบชัดเจนว่าประชาชนเป้าหมายคือกลุ่มใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ผู้ได้รับประโยชน์ ผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง รวมถึงระบบความสัมพันธ์ กฎหมาย กฎระเบียบ และบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายในอนาคต

นอกจากนี้ได้ดำเนินการกระบวนการ Discovery เพื่อทำความเข้าใจประชาชนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในกระบวนการ Discovery ประกอบด้วยขั้นตอน Zoom Out และ Zoom In โดยการ "Zoom Out" มีขึ้นเพื่อการค้นหามุมมองเชิงลึก (Insight) จากภาพเชิงระบบของประเด็นเชิงนโยบายที่แต่ละกลุ่มผู้นำให้ความสนใจจะค้นหานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งในการ Zoom Out จะค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัย บทวิเคราะห์  รวมถึงสถิติและผลสำรวจ และการศึกษาและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ

หลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการ Zoom In เพื่อค้นหามุมมองเชิงลึกจากประชาชน หรือพลเมืองที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย กระบวนการนี้จะคล้ายคลึงกับการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่ผู้ออกแบบนโยบายควรจะต้องรับฟังประชาชนอย่างลึกซึ้ง และจัดทำแผนที่ความเข้าใจประชาชน (Citizen Empathy Map)

สำหรับกระบวนการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ได้ใช้ต้นแบบวิธีการฟังอย่างลึกซึ้งจากแนวคิด Theory U ของ Otto Scharmer ที่ประกอบไปด้วยการฟัง 4 ระดับ คือ 1. ระดับ I-in-Me หรือ Downloading ซึ่งเป็นการได้ยินคนพูด แต่ยังไม่ได้ฟังอย่างแท้จริง เพราะเป็นการฟังเพื่อยืนยันสิ่งที่เคยรู้มาเท่านั้น  2. ระดับ I-in-It หรือ Factual Listening เป็นการฟังที่ลึกขึ้น เป็นการฟังเพื่อจับประเด็น ค้นหาสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่ตนเคยรู้ 3. ระดับ I-in-You หรือ Empathetic Listening เป็นกระบวนการฟังที่ใช้หัวใจฟัง ข้อมูลอาจจะผิดพลาดบ้าง แต่สามารถเข้าใจคนพูดได้โดยไม่ตัดสิน เหมือนเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้พูด และ 4. ระดับ I-in-Now หรือ I-in-Us เรียกว่าเป็นการฟังระดับ Generative Listening ซึ่งเป็นการฟังระดับที่ลึกที่สุด ฟังเพื่อเข้าใจทั้งคนพูดและตัวเรา รวมถึงระบบทั้งหมด ฟังเพื่อเห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะผุดบังเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กระบวนการ Discovery ใน Policy Lab นี้จะช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบาย เห็นทั้งภาพใหญ่จากการ Zoom Out และเห็นภาพลึกจากการ Zoom In ซึ่งจะทำให้เป็นข้อมูลความเข้าใจเชิงลึก อันจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายที่จะตอบโจทย์ประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างตรงจุดและได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง

หลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการ Development เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ แล้วจึงต่อด้วยขั้นตอนการ Delivery เพื่อสร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย และขั้นสุดท้ายจะเป็นกระบวนการ Demonstration ทดสอบกับประชาชนและสื่อสารนโยบาย

กระบวนการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่ได้ใช้กระบวนการ Policy Lab  ได้คิดนโยบายโดยทำความเข้าใจประชาชนผู้ได้รับผลจากนโยบายอย่างลึกซึ้งก่อนออกนโยบาย  ซึ่งสามารถใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) มาร่วมได้ แต่การคิดเชิงออกแบบไม่เพียงพอในการจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบาย เนื่องจากนโยบายจำเป็นต้องเข้าใจระบบทั้งหมด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น การออกแบบการทำงานและการเรียนรู้ที่สร้างความเข้าใจนโยบายหรือ Policy Landscape ของนโยบายนั้นๆ อย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย  อย่างไรก็ดี ในการออกแบบกระบวนการ Policy Lab ควรปรับเปลี่ยนขั้นตอนและเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับวาระ หรือบริบทของเรื่องต่างๆ รวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กร

นอกจากนั้น การเสริมพลังให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญที่สุดคือการเปิดพื้นที่การสนทนาอย่างสร้างสรรค์ ไร้ซึ่งลำดับชั้น นำความเชี่ยวชาญที่หลากหลายจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกัน (co-creation) ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและคำตอบใหม่ๆ ให้กับสังคมโดยรวม พร้อมๆ กันนั้น บุคลากรที่ได้เรียนรู้ตลอดกระบวนการ Policy Lab ยังได้ทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย และมีการพัฒนายกระดับศักยภาพบุคลากรอีกด้วย    

เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่าง Disruption กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะริเริ่มร่วมรังสรรค์ไอเดียใหม่ๆ จากจุดแข็งของแต่ละคน บนการทำงานแบบเครือข่าย ข้ามไซโล และมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการออกแบบนโยบาย อันจะนำไปสู่โซลูชั่นที่แก้ไขปัญหาแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากแท้จริง

โดย... 

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation