Thai PBS ควรเดินตามสื่อ The Guardians ของอังกฤษ

Thai PBS ควรเดินตามสื่อ The Guardians ของอังกฤษ

นสพ.The Guardians) ของอังกฤษ ประกาศความสำเร็จที่สามารถมีรายได้จากการบริจาคถึงจุดคุ้มทุน ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี

หลังประกาศจุดยืนเป็นสื่ออิสระของประชาชน โดยคณะผู้บริหาร The Guardians ได้ประกาศจุดยืนไม่รับเงินบริจาคจากนายทุน ไม่รับการบริจาคเงินก้อนใหญ่ และไม่รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทั้งกลุ่มทุนหรือรัฐบาล โดยขอรับบริจาคจากประชาชนทั่วไปตามกำลังตั้งแต่ 1 ปอนด์ขึ้นไป

The Guardians เคยเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ต้องประสบปัญหาเมื่อเกิดสื่อออนไลน์ ทำให้รายได้ลดลง การโฆษณาลดลง สิ่งที่น่าคิดคือองค์กรสื่อสาธารณะบ้านเราก็น่าจะปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกับ The Guardians

องค์กรสื่อไทยพีบีเอส (Thai PBS) ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีสรรพสามิตพิเศษปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการผลิตสื่อทีวีสาธารณะที่เป็นอิสระ แต่ถ้าพิจารณาตรรกะของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรไทยพีบีเอสกับรัฐบาล จะพบว่าไทยพีบีเอสไม่น่าจะเป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะเป็นการรับเงินงบประมาณจากรัฐบาลผ่านภาษีสรรพสามิต เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ

วันใดที่รัฐบาลคิดจะใช้ไทยพีบีเอสเป็นเครื่องมือของรัฐบาลก็สามารถทำได้ผ่านวิธีงบประมาณ โดยโยกงบประมาณไปทำอย่างอื่น แช่เย็นงบประมาณ หรือแม้กระทั่งยกเลิกงบประมาณทั้งหมดก็ทำได้ เหมือนอย่างที่องค์กรอิสระเช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยโดนมาแล้ว ถึงขนาดไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนบุคลากรของ ป.ป.ช.นานหลายเดือน

ไทยพีบีเอสจึงน่าจะหาทางออกจากระบบวิธีงบประมาณภาครัฐ โดยหาเงินเองจากเงินบริจาคของประชาชนโดยตรง เช่นเดียวกับ The Guardians ของอังกฤษเพื่อรักษาความเป็นสื่ออิสระอย่างแท้จริง ไม่ต้องพึ่งเงินจากรัฐบาลที่ไม่รู้ว่าจะถูกครอบเมื่อไร

เพราะวันใดที่การทำงานของไทยพีบีเอสไม่สามารถตอบสนองหรือขัดต่อความต้องการของรัฐบาลจากบางพรรคการเมือง ก็อาจจะต้องจบบทบาทเหมือนเช่นทีวีเสรี หรือ itv ในอดีตที่เคยประสบมาแล้ว เมื่อถูกนายทุนพรรคการเมืองเข้ามาครอบงำ จนถึงต้องเลิกกิจการ ก่อนที่รัฐบาลต่อมาได้จัดตั้งทีวีช่องใหม่คือไทยพีบีเอสขึ้นมาทำงานต่อ

ระหว่างการเป็นสื่อที่รับงบประมาณจากรัฐ กับสื่อที่รับเงินบริจาคจากประชาชน ถือเป็นทาง 2 แพร่งที่สำคัญ