ทำไม GSP จึงสำคัญกับไทยนัก

ทำไม GSP จึงสำคัญกับไทยนัก

เป็นที่วิพากษ์กันหนาหูว่าเหตุผลที่แท้จริงที่สหรัฐยกเลิก GSP สินค้าไทยนั้นเพราะเหตุผลเรื่องแรงงานนั้นมีน้ำหนักแต่เพียงใด...

...หรือเป็นเพียงไม้แข็งแสดงฤทธิ์เริ่มสงครามทางการค้า

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ส่งออกเดินทางขายของทั่วโลก ผมขออาสาอรรถาธิบายด้วยภาษาชาวบ้านจากข้อมูลอินไซต์ที่ผมได้พบเห็นมา

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยของเรานั้นพึ่งพาการส่งออกมาก คิดเป็นเกือบ 70% ของ GDP นี่คือเหตุผลว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกทรุด เราถึงทรุดด้วย เราเป็นประเทศที่เล็กแต่ก็เก่งกาจในการผลิตสินค้ามากมายส่งป้อนตลาดโลก อาทิ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางเป็นต้น

สินค้าส่วนใหญ่เหล่านี้เป็น commodity ซึ่งผมขอแปลให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นสินค้าทั่วไป เช่น เม็ดพลาสติก ยาง ข้าว สินค้าทั่วไปนี้แข่งขันกันด้วยราคาเนื่องจากสินค้าไม่ได้มีเอกลักษณ์อะไรพิเศษ แตกต่างกับสินค้า Specialty ที่เน้นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เพราะมีเอกลักษณ์โดดเด่น คู่แข่งจึงน้อย ราคาจึงมีผลน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ commodity

ก็เพราะสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็น commodity จึงแข่งขันด้วยราคา ซึ่งราคาของสินค้าชิ้นหนึ่งนั้นประกอบด้วยต้นทุนสินค้า การผลิต แรงงาน ค่าจัดการ ค่าขนส่ง และภาษี ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกปัจจัยล้วนขึ้นลงตามตลาดโลก นี่คือเหตุผลว่า เมื่อน้ำมันขึ้น เมื่อค่าแรงขึ้น เมื่อภาษีขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าเมื่อส่งไปถึงปลายทางเพิ่มขึ้น ในมุมของผู้ซื้อที่ไม่ได้มาสนใจปัญหาเหล่านี้ จึงจะมองเห็นแค่ราคาแพงขึ้น แล้วจึงไปหาสินค้าทดแทนที่คล้ายคลึงกันแต่ราคาย่อมเยากว่า นี่คือความโหดร้ายของกลไกตลาด

ในปัจจุบัน กำแพงทางการค้าได้พัฒนาก้าวหน้า และเปลี่ยนรูปแปลงร่างออกมาในแบบต่าง ๆ มากมาย เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานแรงงาน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มาของสินค้า (tracibility) ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วใช้เป็นมาตรฐานในการกีดกัดสินค้าจากประเทศด้อยพัฒนาเพราะราคาสินค้าจากประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ราคาถูกกว่า มาตรการเหล่านี้ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น หากไม่ทำตามก็ออกวางขายไม่ได้ หรือบางกรณีก็วางขายได้โดยอัตราภาษีทั่วไปที่สูงมาก หรือแบบที่เรียกว่าไม่มี GSP

GSP หรือ Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี คืออัตราภาษีที่ประเทศหนึ่งคิดและใช้เป็นภาษีสำหรับสินค้าจากอีกประเทศหนึ่ง โดยจะมีการให้อัตราพิเศษแก่สินค้าจำนวนหนึ่งจากประเทศใดหนึ่งหากอยู่ในข่าย MFN (Most-favoured-nation) โดยผมขอเรียกภาษาชาวบ้านว่า ประเทศเพื่อนยาก ที่เป็นเพื่อนยากเพราะต่างเกื้อหนุนส่งเสริมกันและกันเป็นพิเศษด้วยอัตราพิเศษทางภาษี ยอมขาดทุนในอุตสาหกรรมหนึ่งเพื่อได้กำไรในอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง เพราะในโลกแห่งทุนนิยมนั้นไม่มีของฟรี มีแต่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เท่านั้น

ในฐานะที่วนเวียนอยู่ในธุรกิจต่างประเทศมานาน ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเกือบทั่วโลก ทำให้ผมเข้าใจสัจธรรมว่า กำแพงการค้าเหล่านี้นั้นมีอยู่จริงและเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้สินค้าไทยขายได้หรือไม่ได้เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของเรานั้นเป็นสินค้า commodity

ดังนั้น การที่สหรัฐบอกว่าปัญหาแรงงานของเรานั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราโดนตัด GSP นั้นจึงฟังดูดีเกินไป เพราะสุดท้ายในโลกแห่งความเป็นจริง ประเทศก็ต้องยึดผลประโยชน์ของคนในประเทศเป็นที่ตั้ง