“ระบบปฏิบัติน้ำ”คบ.ท่อทองแดง ความหวังที่เป็นธรรมของเกษตรกร

“ระบบปฏิบัติน้ำ”คบ.ท่อทองแดง  ความหวังที่เป็นธรรมของเกษตรกร

ฝนตกซู่ใหญ่เมื่อกลางดึกสมทบกับการยกบานประตูคลองสายย่อยเหนือน้ำ ปล่อยน้ำไหลเข้าพื้นที่เรือกสวนไร่นาของเกษตรกร

เป็นผลให้เกษตรกรฝ่ายที่ไม่น้ำเข้าไม่ถึงพื้นที่ ต้องพาพวกมาช่วยกันยกบานประตูด้านใต้ ปล่อยน้ำออกท้ายคลอง จนสุดท้ายน้ำจะท่วมพื้นที่ต้นน้ำ สร้างเสียหาย เกิดเป็นความขัดแย้งซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วจากภาวะน้ำท่วม

นี่คือหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชลประทานแทบจะทุกแห่ง รวมทั้งที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 5 แสนไร่ ไม่นับนอกเขตชลประทานอีกเกือบ 2 แสนไร่ หนึ่งในสองพื้นที่นำร่อง นอกเหนือจากพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เป้าหมายเพื่อลดค่าเฉลี่ยการใช้น้ำในภาคเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งภาคครัวเรือนลง 15% และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของน้ำในเขื่อนขึ้นเฉลี่ย 85%

ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดย ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง นำทีมวิจัยลงพื้นที่สาธิตการทำงานของชุดอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติ ที่ ทรบ.กำนันอ๋า ประตูระบายน้ำที่ควบคุมการทดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายซอย1L และ2L ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากถึง 388,515 ไร่ ก่อนจะพาลงสำรวจพื้นที่เตรียมติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำจุดอื่นๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรและน้ำต้นทุนที่เหมาะสม 

ที่คลองสายซอย2L เป็นอีกจุดที่ประสบปัญหาในเรื่องการส่งน้ำ ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปกับโครงการส่งน้ำชลประทาน ที่ใช้คลองธรรมชาติเป็นคลองหลักในการส่งน้ำกระจายไปในพื้นที่กว่า 5 แสนไร่ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะเห็นว่าเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่พยายามยกบานประตูเพื่อให้น้ำระบายไปด้านท้าย เนื่องจากพื้นที่เหนือน้ำประสบปัญหาน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่เกษตร

งานวิจัยชิ้นนี้ จึงมุ่งพัฒนาเครื่องมือในการจำลองน้ำ ร่วมกับการเก็บข้อมูลภาคสนามที่ทันต่อเหตุการณ์เพื่อให้เห็นว่า ปริมาณน้ำที่รับเข้ามาในโครงการจะส่งต่อไปยังพื้นที่เกษตรกรแต่ละแปลงจะใช้เวลานานเท่าไร และพื้นที่ขนาดเท่าใดที่ได้รับผลกระทบจากการท่วมหรือการขาดแคลนน้ำ โดยมีอุปกรณ์วัดความชื้นในดิน อุปกรณ์วัดระดับน้ำในคลองส่งน้ำต่างๆ เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายข้อมูลสำหรับทำแบบจำลองประเมินการจัดสรรน้ำ

จากเป้าหมายลดการใช้น้ำลง 15% และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล 85% นั้น เนื่องจากโครงการชลประทานที่เสริมน้ำฝน รูปแบบการผันน้ำถ้าปีไหนน้ำมาก ฝนมาก โครงการจะรับน้ำเข้าไปน้อย ถ้าปีไหนฝนน้อย โครงการจะรับน้ำเข้าไปมาก ถ้าเราสามารถคาดการณ์ปริมาณฝนทั้งปี และนำมาประเมินการใช้น้ำจริงของเกษตรกรจะสามารถประหยัดน้ำได้มาก โดยใช้การส่งน้ำตามพฤติกรรมการใช้น้ำของเกษตรกร

การบริหารจัดการจึงแบ่งโซนน้ำเป็น 20 โซน ตาม ”คลองส่งน้ำ“ ต่างจากแต่เดิมที่แบ่งตาม ”ตำบล“ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการ  และเพราะการจะประหยัดน้ำไม่ได้หมายว่าไม่ใช้น้ำ แต่เป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า น้ำที่เราส่งไปทุกคนต้องได้ใช้ เป็นการสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำ 

อีกโครงการที่ดำเนินการคู่ขนานกันไป คือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมที่เหมาะสม ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์การตรวจวัดน้ำ อุปกรณ์วัดความชื้นของดินในแปลงนาของเกษตรกร อุปกรณ์วัดระดับน้ำที่คลองสายส่งหลัก และนำข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์ที่ได้มาบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม

ในโครงการฯยังมีเรื่องของระบบติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาในพื้นที่เกษตรกรรม ระบบควบคุมระดับน้ำอัตโนมัติ ซึ่งจะรับกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์บนพื้นที่ต้นแบบในระบบแปลงนา พร้อมกับการประเมินประสิทธิภาพของเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นให้มีความน่าเชื่อถือ และมีความเสมอภาคของการใช้น้ำของเกษตรกร

โครงการนี้แบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน ส่วนที่1 การพัฒนาเครื่องมือการวัดความชื้นของดิน และวัดระดับน้ำในคลองชลประทานแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทันต่อการใช้งาน โดยนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่รับมาใช้ในการควบคุมการปิดเปิดบานประตูรับน้ำอัตโนมัติส่วนที่2 ระบบติดตาม รายงานสภาพการเปลี่ยนแปลงของน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม และส่วนที่3 การกำหนดพื้นที่ต้นแบบการประยุกต์ใช้เครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ

นอกจากนี้ยังจะมีการติดตั้งจุดวัดระดับน้ำตามคลองสายหลักและสายซอย 8 จุด รวมทั้งการวัดความชื้นในแปลงดิน 120 จุด เพื่อเป็นตัวแทนในภาคสนามที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่โมเดลในการจัดสรรน้ำ ซึ่งขณะนี้บรรลุไปแล้ว 50-60%

ทั้งนี้ จากปัญหาบุคลากรที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้การควบคุมการปล่อยน้ำมีปัญหาตลอด เพราะที่ผ่านมา การจัดการน้ำใช้ระบบปิดเปิดประตูที่ใช้เจ้าหน้าที่อาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ ประกอบกับผู้ใช้น้ำมีจำนวนมาก ปัญหาต่างๆ เหล่านี้สะสมมาจนทางกรมชลประทานมีโครงการวิจัยนำร่องที่จะมาพัฒนาเรื่องการควบคุมอาคาร โดยเลือก คบ.ท่อทองแดง เป็นโครงการนำร่อง

อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้มีความสมบูรณ์พร้อม ก็น่าจะขยายผลกับโครงการที่มีปัญหาแบบ คบ.ท่อทองแดงในอนาคต สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้ชาวบ้านได้น้ำทั่วถึงและตามเวลา รวมทั้งช่วยในการประหยัดน้ำได้อีกด้วย

โดย... แผนงานการบริหารจัดการน้ำ  สกสว.และ วช.