เกษตร ป่าไม้ ผืนดิน ความหวังในการช่วยลดโลกร้อนมิติใหม่

เกษตร ป่าไม้ ผืนดิน ความหวังในการช่วยลดโลกร้อนมิติใหม่

โลกร้อน พายุรุนแรง ฝนตกนอกฤดู ความแห้งแล้งเกิดมากขึ้น ประจักษ์พยานชัดแจ้งเหล่านี้ ตอกย้ำความรุนแรงของสภาวะโลกร้อนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกที

ในอีก 10 ปีข้างหน้าถ้าเราไม่ทำอะไรเลยการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจะมีมากขึ้นจนไม่สามารถกลับเข้าสู่สภาวะเดิมได้

เพื่อหยุดยั้งและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่21 (COP21) ที่มหานครปารีส ปี2558 ประเทศในภาคี ได้รับรอง ‘ความตกลงปารีส’ ที่มีใจความสำคัญคือการร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส(องศาฯ) และพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาฯ นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส ประเทศในภาคีต้องแสดงเจตน์จำนง ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น’ หรือ (Nationally Determine Contribution : NDC) ประกอบด้วยเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว การเงิน การพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยNDC นี้มีการทบทวนทุก 5 ปี การวิเคราะห์NDC ของประเทศภาคีในการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเร็วๆนี้ พบว่าNDC ยังไม่เพียงพอใน การควบคุมอุณหภูมิ ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส โดย NDCในรอบนี้ เพียงแค่ควบคุมอุณหภูมิได้ไม่เกิน2.5 -3 องศาง ในปี 2643 การควบคุมให้ต่ำกว่า1.5 องศา แต่ละประเทศในภาคีต้องมีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมทีเข้มข้นมากกว่านี้ โดยเฉพาะการมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจในการบรรลุเป้าหมาย

ประเทศในภาคีส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานเนื่องจากเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเป็นส่วนใหญ่ ในความเป็นจริงแล้วภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้พื้นดิน (Agriculture Forest and Land use: AFOLU) เป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 24% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ภาค AFOLU นี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชนร่วมอื่น ๆ ด้วยเช่น ecosystem service ความหลากหลายทางชีวภาพ การฟอกอากาศ รวมทั้งการหมุนเวียนของสารอาหาร เป็นต้น การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากที่ดินส่งผลกระทบกับการใช้น้ำการหมุนเวียนของพลังงานระหว่างผืนดินกับบรรยากาศ การแสดงเจตน์จำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมในรอบแรกนี้ ประมาณว่าภาคAFOLU ด้วยนั้นช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 10-30% ของแผนการลดก๊าซทั้งโลก ในปี 2573 โดยทั่วไปแล้ว หลักการลดก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Source Reduction) และการเพิ่มศักยภาพในการดูดกลับCO2 ( Enhance Sink) 

สำหรับภาคAFOLU การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิยังครอบคลุมไปถึง มาตรการด้านอุปสงค์(demand side measure) และมาตรการด้านอุปทาน(supply side measure) ซึ่งมีศักยภาพในการลดก๊าซสูง มาตรการทางด้านอุปสงค์ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ผืนดินเพื่อเป็นป่า ทุ่งหญ้า ลดได้ 1.4-6.8 พันล้านตันCO2 และมาตรการการเพิ่มคาร์บอนในดินรวมถึงการใช้ถ่านชีวภาพสามารถลดการปล่อยได้ถึง 6.64-16.14 พันล้านตัน CO2 ส่วนมาตรการด้านอุปทาน ได้แก่การลดการสูญเสียของอาหารและของเสีย สามารถลดก๊าซ ได้ถึง 0.38-4.5 พันล้านตันCO2การเปลี่ยนมาเป็นอาหารสุขภาพเช่นการลดการกินเนื้อสัตว์ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2.15-5.8 พันล้านตัน CO2 ปัจจุบันมาตรการทางด้านอุปทานเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่ การผลักดันมาตรการทั้งอุปสงค์และอุปทานจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจโดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรมที่มีการบริโภคหรือผลิตเนื้อสัตว์น้อย 2

สำหรับประเทศไทยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรป่าไม้และการใช้ผืนดิน เป็นอันดับที่7 ของเอเชีย (107 ล้านตันCO2) โดยประเทศในเอเชียที่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจกจากภาค AFOLU สูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย การลดก๊าซเรือนกระจกจากป่าไม้สำหรับประเทศไทยยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่จากแผนที่นำทางในการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาค AFOLU เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน1.5 องศาฯ ได้จัดให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวร่วมกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มีศักยภาพ 90 ล้านตันในปี2573และ 205 ล้านตันในปี 2593 โดยเน้นเทคโนโลยีการจัดการน้ำและการจัดการทรัพยากร 2

การลดก๊าซเรือนกระจกในภาค เกษตร ป่าไม้และการใช้ผืนดิน มีความสำคัญในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน1.5 องศาฯ แต่ต้องมีการจัดการและมาตรการที่ดี ประเทศในอาเซียน มีเพียงอินโดนีเซียและเวียดนามเท่านั้น ที่แสดงเจตน์จำนงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาค เกษตร ป่าไม้และการใช้ผืนดินในNDC ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการศึกษาศักยภาพ ในด้านการลดการปล่อยและการเพิ่มการดูดกลับของCO2 ในป่าไม้และเกษตร อย่างไรก็ตามมาตรการด้านการเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค และการลดความสูญเสียของอาหาร เป็นมาตรการใหม่ที่ควรสนับสนุนเนื่องจากเห็นผลเร็วในระยะสั้นโดยลงทุนไม่มากนัก(quick win) สามารถผลักดันให้เป็นClimate action หนึ่งของประเทศได้ อีกทั้งยังสามารถดำเนินการได้ทันทีตามนโยบายของสหประชาชาติที่ต้องการให้ - ACT NOW

โดย... 

รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์ระบบโลก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี