ทำไมเฟดปล่อย ดบ. Repo พุ่งแรง?

ทำไมเฟดปล่อย ดบ. Repo พุ่งแรง?

หลายท่านคงจะลุ้นกันว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ในคืนนี้ ทว่า ประเด็นที่น่าจะสำคัญกว่า ณ ชั่วโมงนี้

 ได้แก่ การที่อัตราดอกเบี้ย Repo ของสหรัฐ ได้พุ่งสูงขึ้นถึง 10% ในวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมาถึงในตอนนี้ ทำให้เฟดต้องอัดฉีดเงินหรือซื้อพันธบัตรระยะสั้นในปริมาณหลักหลายหมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อที่จะลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง ซึ่งที่ผ่านมา หลายท่านเข้าใจผิดโดยมองว่าเฟดได้กลับไปทำ QE ใหม่แบบเนียนๆ นั้น แท้จริงแล้ว สิ่งนี้เป็นเพียงผลลัพธ์จากนโยบายและการบริหารการทำงานของเฟด สาขานิวยอร์ค ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตามรายละเอียด ดังนี้

เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่ จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ค มีความเชื่อว่า ประธานเฟดได้สื่อสารต่อตลาดผิดพลาดเมื่อเดือน ธ.ค.2018 โดยนายเจย์ พาวเวล ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวขึ้น เนื่องจากมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงนั้นได้เกิดฟองสบู่ขึ้นแบบที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤต ทำให้นายวิลเลียมส์ ได้ดำเนินการ 2 แนวทาง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ 1. ตีพิมพ์บทความวิจัยทางวิชาการเกือบ 10 ชิ้น เพื่อพิสูจน์ว่าภายใต้สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เฟดควรจะลดดอกเบี้ยนโยบายโดยทันทีเมื่อเห็นสัญญาณอัตราเงินเฟ้อว่าจะสูงเกินเป้าหมายแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งความเชื่อนี้ เป็นที่มาของการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด 2 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้จนถึงนาทีนี้ หลังจากที่ดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากว่า 10 ปี

แนวทางที่ 2 คือ เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจที่จะทำการลดขนาดงบดุลของเฟด หลังจากที่งบดุลเฟดขยายตัวมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปีเช่นกัน จนสูงสุดที่ 4.5 ล้านล้านดอลาร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่กลางปีจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยนายวิลเลียมส์เป็นผู้ตัดสินใจให้เฟดเริ่มทดลองขยับงบดุลเฟดให้เล็กลง เพื่อลองดูว่าขนาดงบดุลเฟดจะลดลงไปถึงจุดไหน จึงจะเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจสหรัฐ โดยในมุมหนึ่ง คือ การลดขนาดงบดุลเฟดลงนั้น ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้กลับมาสู่ภาวะปกติ รวมถึง หากมองจาก ณ ช่วงต้นปีนี้ ว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี จะสามารถทำให้การลดขนาดงบดุลเฟดไม่ส่งผลให้ตลาดเงินตึงตัวมากนัก เนื่องจากดอกเบี้ยกำลังจะอยู่ในช่วงขาลง

ซึ่งดูเผินๆ อาจจะเหมือนกับว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ทว่าผมมองว่าจุดเปลี่ยนที่ส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์อัตราดอกเบี้ย Repo พุ่งขึ้นมาถึงกว่า 10% นั้น เกิดจากผู้บริหารสูงสุดที่ดูแลโต๊ะ Market Desk ทั้งในมิติของกลยุทธ์และปฏิบัติการของเฟด สาขานิวยอร์ค ที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีนามว่า ไซมอน พอตเตอร์ซึ่งทำงานนี้มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี มีความเห็นที่แตกต่างจากนายวิลเลียมส์ ในประเด็นการลดขนาดงบดุลโดยใช้การทดลองว่าให้ลดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจะรู้ว่าขนาดงบดุลเฟดที่เล็กที่สุดว่ามีระดับสินทรัพย์เท่าใดเมื่อเริ่มส่งผลเชิงลบต่อตลาดเงิน เนื่องจากมองว่าไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะให้ความเสียหายต่อตลาดเงินเป็น trigger point เพื่อจะได้ทราบว่าขนาดงบดุลที่เหมาะสมของเฟด

โดยนายพอตเตอร์และนายริชาร์ด ซิเนอร์ ผู้บริหารที่ดูแลด้านบริการด้านการเงินของเฟด สาขานิวยอร์ค ได้ตัดสินใจลาออกพร้อมๆ กัน เมื่อสิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จากเฟด สาขานิวยอร์ค หลังจากที่ได้ร่วมงานกับเฟดมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งไม่บ่อยนักที่ได้เคยเกิดขึ้นในลักษณะแบบนี้ 

จุดเปลี่ยนตรงนี้ ถือว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดต่อตัว Repo market ภายใต้การดำเนินงานของเฟด สาขานิวยอร์ค เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่จะสามารถเจรจาและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เล่นต่างๆ ในตลาดในช่วงนั้นรวมถึงในตอนนี้ มีเพียงแต่นายพอตเตอร์เท่านั้น เนื่องจากเขาดูแล Market Desk ของเฟด สาขานิวยอร์คแบบครบวงจร มาเป็นเวลากว่า 10 ปี 

โดยนายพอตเตอร์ จบปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ถือว่าเป็นผู้ที่ชี้แนะและให้คำแนะนำต่อผู้เล่นต่างๆ ในตลาดว่าควรจะให้ความสำคัญกับดัชนีใด หรืออัตราดอกเบี้ยอันไหน ในสถานการณ์ที่ทั้งดีและร้ายต่างๆ มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งการที่ขาดคีย์แมนอย่างเขาไป ในช่วงเวลาที่เรียกว่าหน้าสิ่วหน้าขวาน ก่อนการสิ้นสุดการลดขนาดงบดุลเฟดในช่วงสิ้นเดือนก.ย.นั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ภายใต้ช่วงเวลาที่ผู้ดูแล Market Desk ของเฟด นิวยอร์ค ยังอยู่ในภาวะสูญญากาศและขนาดงบดุลเฟดกำลังจะเริ่มขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยของ Repo ที่จะพุ่งกระฉูดได้ไม่ยาก 

นี่ยังไม่นับว่าในช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาช่วงท้ายๆ การจ่ายภาษีของภาคเอกชนและการครบงวดของพันธบัตรที่เฟดซื้อมาจากแบงก์พาณิชย์แบบล็อตใหญ่อีกด้วย

ทั้งนี้ ผมมองว่ามี 3 ปัจจัย ที่น่าจะต้องปรับเพื่อให้อัตราดอกเบี้ย Repo ของสหรัฐ สามารถกลับมาสู่ในภาวะปกติได้ ดังนี้

1.เฟดควรจะตั้งกองทุน Repo facility แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อให้ผู้เล่นในตลาดรวมถึงธนาคารกู้ยืม โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมให้สูงกว่า Interest on excess reserves (IOER) เล็กน้อย เพื่อลดความไม่มั่นใจของตลาด Repo ในตอนนี้

2.เฟดควรจะกำหนดปริมาณขั้นต่ำของเงินสำรองให้สูงกว่าระดับที่เฟดเองได้วิเคราะห์เอาไว้ เนื่องจากปริมาณสำรองส่วนเกินไม่ได้มีค่าใช้จ่ายมากมายแต่อย่างใดต่อเฟดและเศรษฐกิจสหรัฐแบบมากมายอะไร 

3.เฟดน่าจะค่อยๆ เปลี่ยนการตั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากที่อ้างอิงกับอัตรา Fed fund rate มาอ้างอิงกับ Repo Rate แทน เนื่องจากอัตราอ้างอิงแบบหลังมีความลึกในตลาดมากกว่าอัตราอ้างอิงที่ใช้อยู่ในขณะนี้ แม้ว่าจะฝืนกับสิ่งที่เฟดได้เคยปฏิบัติกันมานานกว่า 60 ปีแล้วก็ตาม

ล่าสุด นายพอตเตอร์ได้หันไปเป็นนักวิจัยด้านตลาดเงินให้กับหน่วยงานวิจัยชั้นนำของยุโรปแล้วครับ