เฟซบุ๊คถูกฟ้อง1ล้านล้านบาท จากการใช้ AI

เฟซบุ๊คถูกฟ้อง1ล้านล้านบาท จากการใช้ AI

สิทธิในความเป็นส่วนตัว เป็นหลักสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ แม้แต่ในประเทศไทย ก็ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายชั้นสูงสุด

นั่นก็คือรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ระบุไว้ว่าการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นานาอารยประเทศ ก็มีบทบัญญัติของ สิทธิในความเป็นส่วนตัว ไว้ในกฎหมายเช่นกัน

แต่สิ่งที่มีความแตกต่าง คือ ประชาชนของนานาอารยประเทศ ต่างก็มีการตระหนักรู้และมีการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในความเป็นส่วนตัว รัฐบาลของนานาอารยประเทศเช่นกัน ก็ไม่ได้ลดละในการปกป้องสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน ในขณะที่เรื่องราวดังกล่าว ประชาชนของประเทศไทยมีการตระหนักรู้น้อยมาก

ล่าสุด เฟซบุ๊ค ได้ถูกดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยผู้เสียหายได้เรียกร้อง 35,000 ล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท จากการใช้เทคโนโลยีจดนำใบหน้า (Facial Recoginition) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีตระกูล AI

ซึ่งการใช้เทคโนโลยีจะจำใบหน้าดังกล่าว มีความจำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

โดยผู้ดำเนินคดีได้อ้างว่า การเก็บข้อมูลภาพถ่ายของเฟซบุ๊ค เป็นการละเมิดกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลชีวภาพแห่งรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งสามารถถูกปรับได้สูงสุด 5,000 ดอลล่าร์ ต่อกรณี แต่จากการคาดคะเนว่าอิลลินอยส์มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค 7 ล้านคน จึงเป็นที่มาของค่าปรับรวม 35,000 ล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท

คดีความดังกล่าว เป็นคนละกรณีจากการที่เฟซบุ๊ค ได้ยินยอมเสียค่าปรับ 5,000 ล้านดอลล่าร์ หรือกว่า 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท ต่อคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission หรือ FTC) จากการที่เฟซบุ๊คได้ละเมิดคำสั่ง FTC ในการหลอกลวงผู้ใช้งานเกี่ยวกับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งค่าปรับนี้ ได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

และยังไม่รวมถึง อีกหลายคดีความที่ยังคงถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับเฟซบุ๊ค ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอื่นนอกจากสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวที่ได้กล่าวมาแล้ว สามารถสรุปเป็นข้อคิดได้ว่า

  1. ประชาชนและรัฐบาลแห่งนานาอารยประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิในความเป็นส่วนตัว
  2. ค่าปรับจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว เป็นมูลค่าที่สูงมากอย่างเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับธุรกิจดิจิทัล ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
  3. AI โดยเฉพาะแขนงที่มาจากการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) อย่างเช่น Facial Recoginition ต้องใช้ฐานข้อมูลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ซึ่งในกรณีนี้เป็นการใช้้ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครอง จึงเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการดำเนินการ และมีการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว ของเจ้าของข้อมูลเป็นจำนวนมาก ได้อย่างทั้งจงใจและจากการประมาท

ในยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน เทคโนโลยีตระกูล AI ที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดก็คือ Facial Recoginition ซึ่งได้มีหลาย องค์กร เมือง หรือ ท้องถิ่น ในนานาอารยประเทศ เช่น ซานฟรานซิสโก โอ๊คแลนด์ (ในแคลิฟอร์เนีย) เบอร์คลี่ (ในแคลิฟอร์เนีย) และ ซอมเมอร์วิลล์ (ใกล้บอสตัน) ที่ได้ออกมาประกาศห้ามใช้ เทคโนโลยี Facial Recognition ในกรณีต่างๆ และยังได้มีกลุ่มต่างๆ ที่ออกมารณรงค์ต่อต้านเทคโนโลยีดังกล่าว ที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก

แต่เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวมาแล้ว เรื่องราวนี้ ประชาชนของประเทศไทยมีการตระหนักรู้น้อยมาก