การมองอนาคตด้วยวิธีการ กวาดสัญญาณเชิงลึก (1)

การมองอนาคตด้วยวิธีการ กวาดสัญญาณเชิงลึก (1)

เครื่องมือ การวาดสัญญาณเชิงลึก หรือ Deep Horizon Scanning เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นักอนาคตศาสตร์นำมาใช้เพื่อมองอนาคต

ผ่านการสร้างฉากทัศน์หรือฉากภาพที่พึงประสงค์และเป็นเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต (Foresight) ทั้งในระดับองค์กรธุรกิจและในองค์กรภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

หลักการสำคัญของเครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก คือการวิเคราะห์หาปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) หรือแรงขับเคลื่อน (Driving Force) ที่มีความเป็นไปได้สูงต่อ การเปลี่ยนแปลง และ ผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่อภาพอนาคตที่ต้องการวิเคราะห์มากที่สุด

ก่อนที่จะนำเครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก มาใช้ นักอนาคตศาสตร์จำเป็นที่จะต้องสำรวจและประเมินสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นในบริบทของปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือหรือเทคนิคการวิเคราะห์ที่มักนำมาใช้กันอยู่ทั่วไปแล้ว เช่น

เทคนิค PEST ในการประเมินสภาพแวดล้อมด้าน การเมือง เครษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

เทคนิค STEEP ในการประเมินสภาพแวดล้อมด้าน สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง

เทคนิค PESTEL ในการประเมินสภาพแวดล้อมด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย

เทคนิค PESTELO ในการการประเมินสภาพแวดล้อมด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม กฏหมาย และบริบทภายในองค์กร

โดยเลือกใช้เครื่องมือหรือเทคนิคที่ให้ข้อมูลครบถ้วนในทุกมิติที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์และวางแผนเพื่อรองรับอนาคตเป้าหมายที่ต้องการได้มากที่สุด

การใช้เครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก จะเริ่มต้นโดยการนำผลการประเมินปัจจัยต่างๆ ในบริบทของปัจจุบันมาเรียงลำดับใหม่ตาม ความเป็นไปได้และพลวัตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และ ระดับของผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยนั้นๆ ต่อภาพหรือเป้าหมายอนาคตที่ต้องการ

ซึ่งจะทำให้นักอนาคตศาสตร์สามารถจำแนก ปัจจัยที่จะส่งสัญญาณต่อภาพอนาคต ออกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของแต่ละปัจจัย ดังนี้

  1. ปัจจัยที่ไม่สำคัญได้แก่ ปัจจัยที่มีความเป็นไปได้และพลวัต ต่ำ และ ระดับของผลกระทบ ต่ำ
  2. ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ ปัจจัยที่มีความเป็นไปได้และพลวัต สูง แต่ ระดับของผลกระทบ ต่ำ
  3. ปัจจัยซ่อนเร้นที่สำคัญได้แก่ ปัจจัยที่มีความเป็นไปได้และพลวัต ต่ำ แต่ ระดับของ ผลกระทบ สูง
  4. ปัจจัยที่มีความสำคัญได้แก่ ปัจจัยทีมีความเป็นไปได้และพลวัต สูง และ ระดับของ ผลกระทบ สูง

ในขั้นตอนต่อไป เครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก จะทำการวิเคราะห์ภาพของ โครงสร้างอนาคต ของเป้าหมายอนาคตที่ต้องการสร้างขึ้น โดยการดูจากจำนวนของ ปัจจัยที่มีความสำคัญ ปัจจัยซ่อนเร้นที่สำคัญ และ ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

หาก ปัจจัยที่มีความสำคัญ มีจำนวน มากกว่า จำนวนของ ปัจจัยซ่อนเร้นที่สำคัญ และ ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง รวมกัน จะถือได้ว่า ภาพอนาคตเป้าหมายที่ต้องการ เป็น อนาคตที่มีโครงสร้างชัดเจน

หรือหาก ปัจจัยที่มีความสำคัญ มีจำนวน น้อยกว่า จำนวนของ ปัจจัยซ่อนเร้นที่สำคัญ และ ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง รวมกัน จะถือได้ว่า ภาพอนาคตเป้าหมายที่ต้องการ เป็น อนาคตที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน

ในบทความตอนต่อไป จะนำเรื่องของการใช้เครื่องมือ การกวาดสัญญาณเชิงลึก ในการวิเคราะห์ ความสลับซับซ้อนของอนาคต ซึงจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือก แนวทางในการมองอนาคต (Foresight Path Way) เพื่อให้เกิดภาพอนาคตเพื่อการ ตอบโจทย์อนาคตเฉพาะด้าน ที่ต้องการ

(ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ เครื่องมือการมองอนาคต  ซึ่งจัดทำโดย สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)