นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล 2019​

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล 2019​

ความยากจนอย่างรุนแรงยังมีอยู่ในโลกอย่างไม่น่าเชื่อ กว่า 700 ล้านคนในประชากรโลก 7,000 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.90 เหรียญสหรัฐ

ทุกๆ ปีเด็ก 5 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตเพราะโรคภัยซึ่งสามารถป้องกันได้หรือรักษาด้วยวิธีการที่แสนถูก นอกจากนี้ครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กในโลกจบจากโรงเรียนอย่างขาดความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน และขาดทักษะในการบวกลบคูณหารตัวเลข

ปัญหาความยากจนในโลกได้มีการพยายามแก้ไขกันอย่างจริงจังในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะยังมีผู้ประสบชะตากรรมที่มนุษย์ด้วยกันเองสามารถช่วยได้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์หัวหอกที่ถูกใช้ในการแก้ไขปัญหาในทศวรรษ 1960 สาขา Development Economics (เศรษฐศาสตร์พัฒนา) ได้รับความนิยมเป็นอันมากแต่แผ่วลงเป็นลำดับจนเกิดความคึกคักขึ้นมาอีกครั้งจากผลงานความพยายามแก้ไขความยากจนในระดับโลกอย่างได้ผลของนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบิลประจำปี 2019 คือ Abhijit Banerjee / Esther Duflo และ Michael Kremer

ความคิดกระแสหลักของนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันก็คือ การเลือกพัฒนาภาคที่มีศักยภาพก่อน เช่น ภาคอุตสาหกรรมด้วยการลงทุนขนาดใหญ่จนทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศขึ้น รายได้ตลอดจนความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นก็เปรียบเสมือนหยดน้ำที่หยดลงมาและทำให้ภาคอื่นๆ เช่นภาคการเกษตร(ที่คนยากจนส่วนใหญ่ใช้เป็นหนทางของการมีชีวิตรอด) มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลให้ทั้งประเทศเกิดการพัฒนา ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

เกือบทุกสังคมในโลกที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เดินตามแนวคิดนี้อย่างประสบผลสำเร็จแตกต่างกันไป โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้แพร่กระจายความคิดและสนับสนุนเงินทุน การพัฒนาเศรษฐกิจแนวนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกอย่างมากเกินกว่าที่เคยเชื่อกันแต่แรก โดยสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ระบบการเมืองดั้งเดิม ฯลฯ ถูกกระทบในด้านลบ

จุดอ่อนของแนวคิด น้ำหยดก็คือมิได้มีการทดลองมาก่อนนำมาใช้เนื่องจากเป็นศาสตร์ด้านสังคมมิใช่วิทยาศาสตร์ที่จะมาทดลองกันได้ อีกทั้งต้องนำมาปฏิบัติในระดับรวมทั้งประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ข้างต้นได้ร่วมกันเปิดแนวทางใหม่ในการต่อสู้ความยากจนในระดับโลกอย่างผิดไปจากเศรษฐศาสตร์การพัฒนาที่เคยสั่งสอนกันมาด้วยการใช้การทดลองแบบวิทยาศาสตร์ในการใช้มาตรการแก้ไขความยากจนแทนที่จะพิจารณาแก้ไขปัญหาความยากจนแบบรวมอย่างเดิม ก็แบ่งแยกออกเป็นปัญหาเล็กๆ ศึกษาแบบทดลองจากของจริงเพื่อหาคำตอบโดยเฉพาะเรื่องอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล วิธีทดลองเพื่อหาคำตอบก็เลียนแบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า RCT (Randomized Control Trials)เช่น ต้องการรู้ว่ายาฉีดชนิดหนึ่งได้ผลหรือไม่ ก็แยกคนออกเป็น 2 กลุ่มด้วยวิธีสุ่มเลือกคนเป็น “หนูทดลอง” กลุ่มหนึ่งได้รับยาฉีด อีกกลุ่มไม่ได้รับยาฉีด (กลุ่มควบคุม) ทั้งสองกลุ่มไม่รู้ว่ายาที่ฉีดเป็นยาจริงหรือน้ำกลั่น จากนั้นก็สังเกตความแตกต่างของผลที่เกิดขึ้นของสองกลุ่ม ก็จะบอกได้ว่ายาฉีดได้ผลหรือไม่

ทั้ง 3 เอาวิธีการเดียวกันมาใช้ เช่น ต้องการรู้ว่าในการป้องกันโรคมาลาเรียจากยุงนั้น การแจกมุ้งฟรีกับการขายมุ้งในราคาต่างๆ กันนั้นวิธีการใดที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้ชาวอาฟริกาที่ทดลองเอามุ้งไปใช้จริงๆ (มิได้เอาไปช้อนปลา) จากนั้นจึงเอาไปขยายผล

RCT อาจมีหลายกลุ่มก็ได้ตราบที่สามารถเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากกลุ่มทดลองต่างๆ ทั้ง 3 ได้ทำการทดลองเพื่อต่อสู้ความยากจนอย่างกว้างขวางเป็นเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาในอินเดีย อาฟริกา อินโดนีเซีย เพื่อตอบคำถามเล็กๆ เพื่อรู้ให้จริง เข้าใจพฤติกรรมแล้วจึงดำเนินการขยายใน สเกลขนาดใหญ่ต่อไป (แนวคิดนี้ตรงกับ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นหลักการทรงงานของ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9)

ทั้ง 3 คนร่วมกันได้รับรางวัลก็เพราะการใช้วิธีการใหม่ซึ่งให้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการใช้มาตรการแก้ไขความยากจนในมิติของการศึกษา สาธารณสุข พฤติกรรม ฯลฯ แทนที่จะเป็นมาตรการที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่า ได้ผล ความตั้งใจดี จินตนาการ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียเงินจำนวนมากอย่างสูญเปล่าและไม่ได้ผลเต็มที่

แนวทางใหม่ของการต่อสู้ความยากจนใช้การออกแบบการทดลองอย่างระมัดระวังและ ตั้งคำถามที่ธรรมดา ๆ แต่สำคัญ เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วก็นำไปสู่การใช้มาตรการที่ได้ผลที่สุดโดยไม่ต้องเสียเงินมากหรือชกลมฟรี

งานศึกษาหนึ่งพบว่าตัวการที่ทำให้นักเรียนมีสุขภาพไม่ดีจนต้องเลิกเรียนกลางคันก็คือพยาธิตัวตืดในตัวเด็กที่สูบอาหารที่ไม่ค่อยมีอยู่แล้วไปหมด หากไม่มีการทดลองก่อนก็อาจใช้วิธีกล่อมพ่อแม่ ให้เงินเด็ก พัฒนาโรงเรียน จ้างครูเพิ่มขึ้น อีกงานศึกษาหนึ่งพบว่าในบางกรณีการไปเรียนในโรงเรียนนานปีนั้นมิได้ทำให้เด็กมีคุณภาพสูงขึ้นแต่อย่างใด (Schooling is not Learning)

โครงการเผยแพร่แนวคิดนี้ผ่านศูนย์การศึกษาทดลองที่ Harvard ที่ Kramer สอนอยู่ และที่ MIT ที่ Duflo และ Banerjee สอนอยู่ จนทำให้งานวิจัยเชิงทดลองแนวนี้กลายเป็นกระแสหลักของการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายนักวิจัยในหลากหลายประเทศรวมกว่า 200 คน ที่กำลังต่อสู้ความยากจนด้วยแนวทางนี้

Duflo เป็นผู้มีอายุน้อยสุดของผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ (47 ปี) เป็นคนฝรั่งเศส และเป็นภรรยาของ Banerjee (58 ปี) ที่เป็นคนอินเดีย ส่วน Kramer (55 ปี) เป็นคนอเมริกัน ทั้งสามมีผลงานเป็นหนังสือรวมกันกว่า 20 เล่ม ในเรื่องการต่อสู้ความยากจน

ความยากจนเป็นความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งซึ่งหากทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขจะนำไปสู่ความ เหลื่อมล้ำและความเลวร้ายที่ตามมาอย่างไม่รู้จบ