เหตุการณ์ในชิลีไม่มีการชังชาติ

เหตุการณ์ในชิลีไม่มีการชังชาติ

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลชิลีประกาศภาวะฉุกเฉินเกือบทั่วประเทศ ต้นเหตุได้แก่การประท้วงรัฐบาลอย่างเข้มข้นโดยประชาชน

จนนำไปสู่การเผารถโดยสารและโรงงานตามด้วยการทำลายสถานีรถไฟใต้ดิน รัฐบาลส่งทหารและตำรวจออกปราบปรามทำให้เกิดการปะทะกับประชาชนซึ่งหลายคนเสียชีวิต การประกาศขึ้นค่าโดยสารเป็นชนวนจุดระเบิดการประท้วง แม้รัฐบาลจะยอมงดการขึ้นค่าโดยสารนั้น แต่การประท้วงมิได้ยุติลง ทั้งนี้เพราะความคับแค้นใจของประชาชนคุกรุ่นคล้ายไฟสุมขอนมานาน

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในบรรดาประเทศละตินอเมริกัน ชิลีพัฒนาได้สูงกว่าทุกประเทศหากมองจากดัชนีชี้วัดทั่วไป เช่น รายได้เฉลี่ยของประชาชนและการเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีพ อย่างไรก็ดี ดัชนีเหล่านี้เป็นมายาภาพเปลือกนอกที่มิอาจหลอกชาวชิลีส่วนใหญ่ได้ เช่น ค่าครองชีพที่สูงลิ่วและความเหลื่อมล้ำที่ร้ายแรงกว่าของเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ สภาพเช่นนี้มีผลทำให้ประชาชนรู้สึกคับแค้นใจว่าตนอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นธรรมมานานแม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม การมีประธานาธิบดีที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี ผู้มีนโยบายโน้มไปในทางต่อต้านการเอาใจประชาชนในแนวประชานิยมแต่อุ้มชูคนรวยช่วยซ้ำเติมความคับแค้นนั้น การประกาศขึ้นค่าโดยสารจึงเป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในเมืองหลวงซึ่งแพร่กระจายไปสู่เมืองใหญ่ ๆ อย่างรวดเร็ว

สภาพเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปราะบางในขณะนี้บ่งชี้ว่า ชิลีน่าจะมีเพื่อนซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่ประเทศกำลังพัฒนา หากรวมทั้งประเทศก้าวหน้าด้วย ประเทศก้าวหน้าที่จะมีปัญหาสาหัสกว่าใครในเร็ววันคงเป็นสหรัฐ ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานและเป็นประเด็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง บทความในคอลัมนี้พูดถึงหลายครั้ง รวมทั้งระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 13 กค. 2555 ซึ่งเสนอบทคัดย่อและวิพากษ์หนังสือของโจเซฟ สติกลิตซ์ เรื่อง The Price of Inequality: How Today’s Divided Society Endangers Our Future (อ่านและดาวน์โหลดต้นฉบับได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

จากวันนั้นถึงวันนี้ สถานการณ์ในสหรัฐมิได้ดีขึ้น ตรงข้ามมันกลับยิ่งเลวร้าย เทคโนโลยีใหม่ การเมืองที่ชนชั้นเศรษฐีชี้นำนโยบายและสงครามการค้ากับต่างชาติส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปราะบางกำลังถูกซ้ำเติมด้วยเรื่องการเมืองที่แตกแยกสูง ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับการโจมตีกันอย่างเผ็ดร้อนในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าจะเป็นชนวนจุดระเบิดได้ง่ายมาก นอกจากนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เองอาจก่อวิกฤติใหญ่เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในภาวะที่ตนมีโอกาสแพ้การเลือกตั้งสูง สิ่งที่เขาทำอาจเป็นการปลุกปั่นภายใน หรือการสร้างความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นการใช้อาวุธ เช่น การโจมตีอิหร่าน

เนื่องจากสหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจ วิกฤติการณ์ในสหรัฐย่อมก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ขนาดใหญ่แพร่กระจายไปทั่วโลก ผลกระทบต่อสังคมไหนจะร้ายแรงเพียงไรขึ้นอยู่กับสภาพความเปราะบางในสังคมนั้น สังคมไทยอาจมองได้ว่าอยู่ในสภาพเปราะบางมากเนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะยิ่งเลวร้ายได้สร้างความคับแค้นใจให้แก่ประชาชนแล้ว ความคับแค้นใจนั้นเป็นเสมือนไฟสุมขอนที่คุกรุ่นอยู่กำลังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจนส่งผลให้การทำมาหากินฝืดเคืองและภาวะทางการเมืองที่แตกแยกสูง ภาวะเช่นนี้อาจมีอะไรที่ยังมองไม่เห็นเป็นฟางเส้นสุดท้ายจุดระเบิดให้เกิดวิกฤติได้โดยไม่ต้องรอวิกฤติในสหรัฐ ผู้กำอำนาจอาจเข้าใจภาวะนี้ดี จึงมีมาตรการประชานิยมออกมาซื้อใจประชาชนอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเรื่องการผลาญงบประมาณผ่านการแจกเงินให้ไปเที่ยว

การประท้วงรัฐบาลของชาวชิลีมิใช่เกิดจากการชังชาติ แต่อาจอนุมานได้ว่าเพราะการเห็นเพื่อนบ้านมีรัฐบาลเอาใจด้วยการใช้นโยบายประชานิยม พวกเขาส่วนใหญ่คงไม่เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ แต่มีผู้นำที่ศึกษาประวัติศาสตร์และรักชาติจนมิอาจเอาใจพวกเขาได้เพราะตระหนักดีว่ามันจะพาไปสู่ความล่มจม อย่างไรก็ดี ยังมีผู้หลงผิดคิดว่าตนจะใช้นโยบายประชานิยมได้โดยไม่ทำให้ชาติล่มจม การคิดเช่นนั้นคือการชังชาติตัวจริง