คิดอนาคตภาคเกษตรกรรมและอาหาร: โอกาสและความท้าทาย

คิดอนาคตภาคเกษตรกรรมและอาหาร: โอกาสและความท้าทาย

อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การปฏิวัติการเกษตรในอดีตที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอารยธรรม

ที่ส่งผลให้มนุษย์เปลี่ยนจากการเร่ร่อนหาของป่าและล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร มาสู่การทำการเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตอาหาร นำไปสู่การตั้งหลักแหล่งอยู่เป็นที่ สร้างชุมชน สร้างเมือง สร้างระบบสังคมและการปกครอง เมื่อมีอาหารเพียงพอและมั่นคงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการใช้เครื่องจักร พลังงานไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ก็ได้ส่งผลให้ระบบการผลิตและการกระจายวัตถุดิบการเกษตรและอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต การควบคุมคุณภาพการผลิตแบบครบวงจร และเกิดการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างประเทศ ทำให้มนุษย์สามารถรับประทานอาหารจากแหล่งต่างๆ ได้ทั่วโลกอย่างสะดวกสบาย

ในปัจจุบัน เป็นอีกครั้งที่โลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและพลิกผันในด้านเกษตรกรรมและอาหารครั้งสำคัญ ความท้าทายครั้งนี้มาทั้งจากทั้งด้านอุปสงค์ความต้องการอาหาร ด้านอุปทานของเกษตรกรรมและอาหาร และเทคโนโลยีที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร 

แนวโน้มสำคัญของโลกที่กระทบต่ออนาคตของภาคเกษตรกรรมและอาหารมี 5 แนวโน้มที่สำคัญ ได้แก่ (1) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการเข้าสู่ความเป็นเมือง (2) ข้อจำกัดจากทรัพยากรธรรมชาติ (3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) ความท้าทายจากขยะอาหาร และ (5) การปฏิวัติทางเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารอย่างก้าวกระโดด

แนวโน้มเหล่านี้ส่งผลต่อฉากทัศน์อนาคตของเกษตรกรรมและอาหารของโลก รวมถึงประเทศไทยที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค ควรร่วมกันคิดอนาคตเพื่อเตรียมการทั้งเชิงรุกและรับ กับอนาคตของเกษตรกรรมและอาหารครั้งสำคัญนี้

แนวโน้มที่ 1 การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการเข้าสู่ความเป็นเมือง ในปี 2017 ประชากรโลกมีประมาณ 7.6 พันล้านคน สหประชาชาติ คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9-10 พันล้านคนในปี 2050 และ 11.2 พันล้านคนในปี 2100 การเพิ่มขึ้นของประชากรหมายถึงการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ความต้องการของอาหาร ซึ่ง FAO คาดการณ์ว่าจะต้องการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 70% เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ แนวโน้มความเป็นเมือง (Urbanization) ที่มีการคาดการณ์ว่าประชาชนเกินครึ่งจะย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองก็ส่งผลต่อความต้องการอาหาร โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองที่มีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อคนสูง นอกจากนี้ เมื่อประชาชนย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น ประชากรในชนบทก็จะมีจำนวนลดลง เมื่อรวมกับแนวโน้มการสูงอายุของคน ก็ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าใครจะเป็นผู้ผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการอาหารที่สูงขึ้นนี้ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) จึงเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสนใจเป็นอย่างสูง

แนวโน้มที่ 2 ข้อจำกัดจากทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource) ในด้านหนึ่ง ประชากรพิ่มชัดเจน ส่งผลต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่อีกด้านหนึ่ง ฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาทำการเกษตรและผลิตอาหารกลับเสื่อมโทรมลง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของที่ดิน น้ำและพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการฟาร์มเกษตรที่ไม่เหมาะสมอันเป็นผลส่วนสำคัญจากปัญหาความยากจนและการขาดความรู้ที่เหมาะสม ทั้งการใช้สารเคมีเกินขนาดไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการผลิตอาหารให้เพียงพอรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติลดลงและมีประสิทธิภาพสูงสุด

แนวโน้มที่ 3 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่มีส่วนสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในอีกด้าน ภาคเกษตรกรรมก็จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากคุณภาพน้ำใต้ดินและคุณภาพดินที่เสื่อมสภาพลง และจากความถี่ที่เพิ่มขึ้นของภัยแล้งและน้ำท่วมที่ส่งผลต่อการลดลงของปริมาณและคุณภาพของผลผลิตการเกษตร

แนวโน้มที่ 4 ความท้าทายจากขยะอาหาร (Food Waste) แนวโน้มขยะอาหารเป็นอีกประเด็นที่สำคัญและควรมีการบริหารจัดการเนื่องจากเป็นการสูญเสียที่ไม่จำเป็น โดยมีการประมาณการว่าอาหารประมาณ 33-50% ที่ผลิตออกมาแล้วไม่ได้นำไปสู่การบริโภค กลายเป็นขยะอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูปตามร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ขายได้ไม่หมด หรือผักผลไม้ที่ไม่สวย ไม่ได้ขนาดตามความต้องการของตลาด ซึ่งการบริหารจัดการอาหารที่นำไปทิ้งเปล่ากลายเป็นขยะนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารในอีกทางหนึ่งได้

ในบทความครั้งต่อไป จะกล่าวถึงแนวโน้มที่ 5 คือการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ เกิดขึ้นและกำลังพัฒนาอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเนื้อสัตว์เป็นอาหาร (cultured meat) การทำฟาร์มที่ทะเลทราย (Desert Farming) การทำฟาร์มที่ทะเล (Seawater Farming) การทำฟาร์มเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming) การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตอาหาร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดรน อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เกษตรแม่นยำ นาโนเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชนและเศรษฐกิจแบ่งปัน เพื่อบริหารจัดการการเกษตร เทคโนโลยีเหล่านี้นับเป็นโอกาสที่สำคัญต่อการผลิตอาหาร แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรที่อาจถูก Disrupt ได้จากเทคโนโลยีเหล่านี้เช่นกันหากปรับตัวไม่เร็วพอ

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/