ทำไมถึงต้องมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข

ทำไมถึงต้องมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงเขียนเรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขบ่อยมาก เขียนแล้วเขียนอีก ก็อยากจะตอบว่าในการทำงาน

ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)นั้น ได้เห็นความต้องการของประชาชนชัดเจนว่าต้องการให้ปฏิรูประบบและโครงสร้างของงานสาธารณสุข

ได้เขียนบทสรุปไว้ในบทความเรื่อง เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข และแสดงจำนวนความเห็นในกลุ่มประเด็นต่างๆแยกเป็น 10 กลุ่ม พบว่า

  1. ในจำนวนเรื่องที่รัฐบาลต้องการให้มีการปฏิรูปทั้งหมด 18 ประเด็น (ไม่รวมประเด็นอยากเห็นประเทศใน 20 ปีข้างหน้าและประเด็นอื่นๆ) มีเพียงเรื่องสาธารณสุขที่กำหนดไว้ชัดว่าเป็นเรื่องปฏิรูประบบ ซึ่งต่างจากประเด็นอื่นที่ปฏิรูปเรื่องนั้นๆ
  2. จากการรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศกว่า 800 เวที รวมทั้งช่องทางอื่นๆนั้น มีประชาชนให้ความเห็นเรื่องปฏิรูประบบและกระบวนการ ในระบบสาธารณสุขสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งถึง 647 ความเห็นจากทั้งหมด 4,378 ความเห็น แสดงว่าประชาชนให้ความสำคัญเรื่องปฎิรูประบบสาธารณสุขอย่างมาก และ
  3. ถ้ารวมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและบุคคลากรด้วย ก็มีประชาชนให้ความเห็นเพิ่มขึ้นอีก 445 ความเห็น

เมื่อประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูประบบและโครงสร้างองค์กร ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่จะให้ความสำคัญสูงสุด แต่ไม่ปรากฎว่าคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ทำงานมาครบ 1 ปี ได้ทำอะไรที่เป็นการปฏิรูประบบและโครงสร้างองค์กรตามความเห็นของประชาชนเลย สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขทำตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขเล็กๆ น้อยอย่างที่ทำกัน แล้วก็บอกว่าเป็นการปฏิรูป ซึ่งขัดต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก

จริงๆแล้วการปฏิรูประบบสาธารณสุขตามเป้าหมายนั้นเน้นที่สาธารณสุขภาครัฐเป็นหลัก ส่วนภาคเอกชนนั้นเป็นเรื่องของธุรกิจที่รัฐเป็นผู้ควบคุมออกกฎระเบียบให้ภาคเอกชนดำเนินการตามทิศทางที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลเท่านั้น และถ้าจะให้กระชับขึ้นมา การโฟกัสที่หน่วยงานภาครัฐน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปมากที่สุด โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ที่รองรับให้บริการประชาชนทั้งประเทศที่ไม่ประสงค์จะใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน

สถานพยาบาลภาครัฐมีหลายระดับ ต่างระดับก็ต่างศักยภาพ ตั้งแต่ รพ.สต. หรือสถานีอนามัยเดิม รพ.ชุมชน ระดับอำเภอ รพ.ทั่วไป ระดับจังหวัด รพ.ศูนย์ ถึง รพ.โรงเรียนแพทย์ แต่ รพ.โรงเรียนแพทย์นั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ จึงไม่อยู่ในโครงสร้างสถานพยาบาลภาครัฐ เว้นแต่ในเรื่องของงบประมาณแผ่นดินที่ยังได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล นอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ปัจจุบันเรามี รพ.สต. หรือโรงพยาบาลสุขภาพตำบลกว่า 8,000 แห่ง และถ้ารวมศูนย์บริการปฐมภูมิอื่นๆ ที่กระจายไปทุกตำบลทั่วประเทศก็ถือว่ามีเกือบ 10,000 แห่งทีเดียว มี รพ.ชุมชน ระดับอำเภอประมาณ 200 แห่ง และ รพ.ทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัดประมาณ 80 แห่ง นอกนั้นเป็นระดับ รพ.ศูนย์ ระบบราชการที่ใช้กับสถานพยาบาลรัฐนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานานนับร้อยปี ทุกแห่งอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและบุคคลากรทางการแพทย์เป็นไปตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ กพ.เป็นผู้กำหนด

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ใช้กับสถานพยาบาลภาครัฐเป็นไปตามระบบราชการที่เรียกว่า Bureaucracy มีการกำกับดูแลเป็นขั้นเป็นตอนในรูปปิรามิดที่ฐานล่างใหญ่สุดเป็นข้าราชการของกระทรวง สูงขึ้นไปคือระดับบริหารในระดับต่างๆ และสูงสุดที่เป็นยอดของปิรามิดคือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของกระทรวง ระบบบริหารแบบราชการนี้มีความไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สามารถใช้ทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้มากขึ้น มีความรวดเร็วถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น และที่สำคัญสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการ ทำให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้นด้วย

ได้รวบรวมแนวคิดว่า ถ้ากระทรวงสาธารณสุข ต้องมีการปฏิรูประบบและโครงสร้างให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ควรจะมีทางเลือกอะไรบ้าง พบว่าน่าจะมี 3 ทางเลือกสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา

  1. ระบบเขตสุขภาพที่เน้นรวมหลายจังหวัดเข้ามาอยู่ในเขตเดียวกัน และมีคณะกรรมการบริหารเขตสุขภาพเพื่อการจัดการตนเอง รูปแบบนี้อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหัสเมธาพัฒน์ ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุน
  2. ระบบโรงพยาบาลจัดการตนเองที่เน้นแต่ละโรงพยาบาลให้มีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการ ดังเช่นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ รูปแบบนี้ อดีต รมว.สาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา สนับสนุน และ
  3. ระบบโรงพยาบาลจังหวัดจัดการตนเองที่เน้นจังหวัดเป็นเขตพื้นที่ให้บริการ มีโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลทั่วไปเป็นศูนย์ปฏิบัติการ มีโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดเป็นแซทเทิ้ลไลท์ และรพสต.เป็นโรงพยาบาลปฐมภูมิ รูปแบบนี้ได้มีการนำเสนอหลายครั้งผ่านสื่อต่างๆ

ทั้ง 3 รูปแบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือเป็นโรงพยาบาลจัดการตนเอง มีคณะกรรมการบริหารที่ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์หรือบุคคลากรทางการแพทย์ และที่สำคัญคืองบประมาณรายจ่ายไม่ต้องมาจากการจัดสรรของรัฐบาลท้ั้งหมด แต่ขอรับการจัดสรรบางส่วนตามความจำเป็น และถ้าการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ บุคคลากรก็สมควรได้รับรางวัลเป็นเงินตอบแทนพิเศษหรือโบนัสได้เช่นเดียวกับเอกชน ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือจะไม่เป็นระบบราชการที่อยู่ภายใต้ กพ.อีกต่อไป การโยกย้ายแต่งตั้งเป็นไปตามระเบียบการบริหารจัดการตนเอง ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถมากกว่าระบบอาวุโส

หน้าที่หนึ่งของวุฒิสภาชุดนี้คือการปฏิรูประบบต่างๆของประเทศที่เป็นระบบหลักและระบบรองประมาณ 11 ด้าน และจะต้องทำให้สำเร็จในสมัยนี้ การปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่คงไม่มีคำตอบ ณ วันนี้ และแม้เมื่อมีการตัดสินใจปฏิรูปโครงสร้างเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก็คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างใหม่ แต่ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ ก็คงไม่มีคำว่าปฏิรูปในระบบสาธารณสุขภาครัฐอย่างที่หวังไว้