จุดร่วม? แก้รธน.

จุดร่วม? แก้รธน.

ปฏิบัติการเดินสายของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อรณรงค์หาฉันทามติประชาชน ในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 ยุค คสช.

ปรากฎว่าเวทีส่งท้าย "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" กิจกรรม ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน สัญจรภาคใต้ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 ก.ย.ที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัด ถูกฝ่ายความมั่นคงแจ้งความเอาผิด แกนนำและนักวิชาการรวม 12 คนบนเวที 

ด้วยข้อกล่าวหาว่า "มีการนำเสนอข้อมูลลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116" 

จากประเด็นการเมือง พอมาเจอคดีความมั่นคงสกัด ทำเอากระบวนแห่แก้รัฐธรรมนูญมีอันต้องสะดุด เสียจังหวะ ถูกลากไปปะฉะดะกับขั้วรัฐบาล ที่มอบให้ฝ่ายความมั่นคงประกบติด

ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้ แต่ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงตามติดทุกเวที ทุกภาค จับจ้องว่าฝ่ายค้านจะรณรงค์เลยเถิดไปจากประเด็นแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้ที่ผ่านมาระดับแกนนำ จะระมัดระวังการสื่อสาร ไม่ให้พลาด เพราะมีบทเรียนตายน้ำตื้นมาแล้วหลายคดี แต่ปัจจัยที่คุมได้ยากจากแขกร่วมเวที งานนี้ เลยเข้าทางขั้วรัฐบาลง่ายๆ พลิกเกม กลบกระแสแก้รัฐธรรมนูญไปได้เนียนๆ 

ฝ่ายค้านได้วางเกม รวบรวมประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจากเวทีทุกภาค ให้เสร็จภายใน ต.ค. โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำนอกสภาฯ ที่พยายามผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ คู่ขนานไปกับงานในสภาฯ เพื่อให้ทันส่งไม้ต่อ ช่วงเปิดสมัยประชุมที่สอง 1 พ.ย.นี้ ที่ดันวาระตั้งกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญเข้าไปรอไว้แล้ว

มาถึงจุดนี้ เวทีสัญจรเก็บข้อมูลฝ่ายค้านถือว่าครบถ้วนกระบวนความ เตรียมไปประกบกับ"โพลล์"สำรวจความต้องการของประชาชน แล้วรอจังหวะคิกออฟ พร้อมขอแรงแนวร่วมจากกลุ่ม ส.ส.ขั้ัวรัฐบาล อีกทาง 

ก่อนสรุปออกมาเป็นประเด็นชัดๆ ว่า มาตราที่จำเป็นต้องแก้ (แม้จะเป็นการยกร่างใหม่) มีอะไรบ้าง 

ที่ยากแน่ๆ แต่แอบเป็นจุดร่วมระหว่างนักการเมืองสองขั้ว ที่อยากเอาทหารออกจากการเมือง... จะหาทางตัดมือ ส.ว.ออกจากโหมดล็อกโหวตนายกฯ ทหารกันได้ยังไง!