สร้างอย่างไร....ให้โลกไม่ร้อน

สร้างอย่างไร....ให้โลกไม่ร้อน

การสร้างและการผลิตที่สำคัญของมนุษย์ได้รวมถึงการสร้างอาคาร และการใช้พลังงานในการปรับอากาศ แสงสว่าง

และการใช้งานอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวกในบ้าน เมื่อประชากรมีมากขึ้น ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในชีวิตประจำวันของมนุษย์ยิ่งมีมากขึ้น ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สร้างผลกระทบต่อการเพาะปลูกของมนุษย์ในเขตเกษตรกรรม ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้ชีวิตให้ไปในทิศทางที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง การออกแบบก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำ ที่ช่วยประหยัดพลังงานทั้งการผลิต ก่อสร้าง ใช้สอย และย่อยสลาย จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้การออกแบบก่อสร้างอาคารไปในทิศทางที่ยั่งยืน การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยลดการใช้ทรัพยากร จะต้องถูกคิดค้นขึ้นเพื่อส่งเสริมให้การใช้ชีวิตของมนุษย์ ลดการสูญเสียทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นวัตกรรมการออกแบบอาคารคาร์บอนต่ำ จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทันที เพื่อให้อาคารใหม่ที่จะสร้างขึ้น มีการประหยัดพลังงาน ประหยัดวัสดุอุปกรณ์ ประหยัดน้ำ และลดการปล่อยน้ำเสีย

ในปัจจุบัน เมื่อมีการผลิตอย่างไม่ยั่งยืน ร่วมกับการบริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลก็คือเกิดขยะมากมายบนผิวโลกและแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับการก่อสร้างอาคาร ขยะที่เกิดขึ้นจะเริ่มตั้งแต่การผลิตวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่กระบวนการขุดเจาะหาวัตถุดิบ นำมาส่งผลิตที่โรงงาน เกิดขยะเหลือทิ้งที่โรงงาน รวมทั้งน้ำเสีย และอากาศเสีย ขึ้นอยู่กับว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่มีพิษตกค้างน้อย หรือเป็นวัตถุสังเคราะห์ที่สร้างขยะที่มีสารพิษเจือปนสูง เมื่อนำมาปลูกสร้างอาคาร ณ สถานที่ก่อสร้าง ก็จะเหลือเศษวัสดุเป็นขยะจากการก่อสร้าง และในที่สุดเมื่ออาคารหมดอายุลงต้องรื้อถอนทำลาย ก็เกิดเป็นขยะตกค้างย่อยสลายทำลายไม่ได้ การก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้ผู้ออกแบบผู้ก่อสร้างอาคารได้คำนึงถึงวัสดุที่จะนำมาใช้ว่าผ่านกระบวนการผลิตมาอย่างไร ประกอบกับการนำมาออกแบบก่อสร้างอาคารอย่างไรให้เหลือเศษน้อยที่สุด อันนำมาซึ่งค่าวัสดุก่อสร้างอาคารและค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากการก่อสร้างที่ลดลงอีกด้วย ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เมื่อปริมาณขยะมีมากขึ้น ร่วมด้วยแนวโน้มการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะมีพิษต่าง ๆ จะสูงขึ้นมาก วัสดุก่อสร้างที่ผลิตโดยมีส่วนผสมของสารมีพิษจะมีราคาค่ากำจัดสูงขึ้น รวมทั้งการรื้อถอนอาคารเหล่านี้ในอนาคตจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเลือกวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ จึงเป็นทิศทางที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับใช้อย่างจริงจังทันที

ด้วยเหตุนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง จึงขานรับกระแสอาคารคาร์บอนต่ำ ด้วยการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองฉลากลดคาร์บอน หรือฉลากเขียว โดยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเด็นต่าง ๆ อีกหลากหลาย เช่น มาตรฐาน Green

Seal, Green Guard, GreenScreen, FloorScore, Cradle-to-Cradle, มาตรฐาน WaterSense เน้นการประหยัดน้ำ และมาตรฐาน NFS เน้นอุปกรณ์ท่อน้ำลดสารตะกั่ว เป็นต้น ซึ่งคงเป็นสิ่งใหม่ที่สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารต้องเรียนรู้และตามให้ทัน หากไม่ต้องการเป็นผู้ออกแบบและผู้ก่อสร้างที่เป็นเหตุให้โลกร้อน 

โดย... 

รศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

คณะกรรมการรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก