ความสามารถการเข้าทำสัญญากับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ(2)

ความสามารถการเข้าทำสัญญากับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ(2)

ในตอนท้ายของบทความครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น (1) ความสามารถในการเข้าทำสัญญาของนิติบุคคล

และ (2) ความสามารถในการเข้าทำสัญญาของคนต่างด้าว ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนได้สืบค้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในประเด็นนี้ก็ยังไม่พบว่ามีคำพิพากษาไว้แต่อย่างใด แต่เรื่องที่เห็นว่าพอจะนำมาเทียบเคียงได้คือ กรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นว่า สัญญารับประกันภัยที่ทำโดยผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนั้นจะทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาไม่เป็นโมฆะเนื่องจากเป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยทำผิดกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รู้เห็นด้วย จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 58/2482) ผู้เขียนเข้าใจว่าศาลฎีกาในคดีนี้วินิจฉัยเฉพาะในประเด็นที่ว่าสัญญาประกันภัยนี้เป็นสัญญาที่มีข้อห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่ทราบว่าผู้รับประกันภัยประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย

เหตุที่คำพิพากษาฉบับนี้อาจจะนำมาเทียบเคียงได้เท่านั้นเพราะว่าคำพิพากษาในคดีนี้ไม่ได้วิเคราะห์ประเด็นว่าการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนั้นจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าทำสัญญาหรือไม่ ในเรื่องนี้ที่จริงแล้วมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในทำนองที่ว่าความสามารถของนิติบุคคลจะอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง สิ่งที่น่าสนใจคือการตีความคำว่า กฎหมาย ในมาตรานี้หมายถึงกฎหมายอะไรบ้าง ผู้เขียนเห็นว่าอาจมีการตีความได้สองแบบ ดังนี้

การตีความแบบแรก คือ กฎหมาย ในที่นี้หมายถึงเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งนิติบุคคลนั้นๆ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่ว่าด้วยการจัดตั้งบริษัทจำกัด พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด หรือพระราชบัญญัติที่จัดตั้งนิติบุคคลโดยเฉพาะขึ้นมา พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน แต่ไม่ได้รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการประกอบกิจการ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่าง ๆ

การตีความแบบที่สอง เป็นการตีความอย่างกว้างให้รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการประกอบกิจการของนิติบุคคลนั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะกฎหมายที่กำหนดให้การประกอบกิจการบางประเภททำได้เฉพาะเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว เช่น การประกอบธุรกิจต้องห้ามโดยคนต่างด้าว หรือธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น หากใช้แนวทางการตีความแบบนี้แล้ว สัญญาที่บริษัทต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตในประเทศไทยก็อาจจะใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาไม่ได้

 อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติไม่ได้มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างทั้งสองแนวทางนี้โดยชัดเจน โดยทั่วไปแล้วในการตรวจสอบความสามารถในการเข้าทำสัญญา คู่สัญญาก็มักจะตรวจสอบเพียงหนังสือรับรองบริษัท วัตถุประสงค์ และข้อบังคับบริษัทในบางกรณี โดยเฉพาะการเข้าทำสัญญาในธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเป็นพิเศษ เช่น กิจการโทรคมนาคม ธุรกิจหลักทรัพย์ต่าง ๆ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะอยากเห็นใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจเพื่อประกอบการเข้าทำสัญญาบ้าง แต่การขอดูใบอนุญาตดังกล่าวก็มักเป็นไปเพื่อความมั่นใจว่าคู่สัญญาของเราสามารถจะปฏิบัติตามสัญญาได้ มากกว่าจะเป็นการตรวจสอบความสามารถในการเข้าทำสัญญา

ประเด็นเรื่องใบอนุญาตและความสามารถในการเข้าทำสัญญาจึงเป็นประเด็นกฎหมายอีกหนึ่งเรื่องที่ยังมีความไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]